กระจายความเสี่ยงด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การเว้นระยะทางทางสังคมด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งการปิดห้างสรรพสินค้า ให้เปิดจำหน่ายได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ร้านยา และอื่นๆ รวมถึงการทำงานจากบ้านของบริษัทต่างๆ ทำให้คนออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อน้อยลงและพฤติกรรมการจับจ่ายส่วนใหญ่เน้นการเข้ามาหยิบสินค้าที่ต้องการจ่ายเงินและกลับ ทำให้โอกาสในการเดินเล่นเพื่อดูสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน Wish List น้อยลง และทำให้ยอดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวอื่นๆ รวมถึงขนมอบกรอบข้าวเพลงรักของ เบนซ์ – เกริกกฤษณ์กมลวิมุตศานต์พอแล้วดี The Creator รุ่น 2 มีโอกาสในการขายน้อยลงตามมา เขาเลยหันมามุ่งมั่นช่วยเหลือคนอื่นในวิกฤตที่ทุกคนต่างยากลำบาก แต่อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขา สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร้ความกังวล ทั้งที่ธุรกิจของตัวเองก็ได้รับผลกระทบ?

อะไรที่ทำให้คุณลุกขึ้นมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมแล้วทำอย่างรู้จักตนเองหรือเปล่ามีเหตุมีผลอย่างทำอย่างมีภูมิคุ้มกันหรือเปล่า?

หนึ่งเลยในภาวะแบบนี้มันเป็นสถานการณ์ที่เป็นเหมือนชะตากรรมร่วมกันของประเทศ ของสังคม หรือในโลกใบนี้ พอเป็นอะไรที่เป็นชะตากรรมร่วมกัน เราก็มองว่า ธุรกิจมันก็มีผลกระทบแน่นอน ไม่ใช่ว่าจะขายได้ อย่างขนมไม่ใช่สินค้าที่ ณ เวลานี้เป็นของที่จำเป็น มองว่าไหนๆ เราก็ไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทำกำไรเป็นตัวเงิน เราก็เอามาทำเพื่อคนอื่นหรือแบ่งปัน มีส่วนร่วม อย่างน้อยได้ประคองหรือแก้ไขสถานการณ์บ้างก็ยังดี

ผมเลยลุกขึ้นมาหุงข้าว ทำเมนูเพื่อแจกให้กับคนที่เขาเดือดร้อน รายได้ลด ตกงาน ไม่มีกิน อย่างน้อยบรรเทาค่าใช้จ่ายของเขาในด้านอาหารการกิน เพราะว่าเรามีข้าวอยู่แล้ว ถึงแม้ตัวขนมมันขายไม่ได้ในช่วงนี้ แต่เรามีข้าวเปลือก ขายเป็นข้าวสาร มันก็ขายได้บ้าง แต่ถ้าเทียบตัวสินค้า ด้วยต้นทุนเราสูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าตัวอินทรีย์ ต้นทุนต่อหน่วย พอเราเป็นบริษัทขายข้าวที่สเกลเล็ก ต้นทุนต่อหน่วยก็สูงกว่า พอจะขายเป็นข้าวสารในเวลานี้ก็ยังไม่ใช่อีก อย่างพี่บิ๊กเขาสเกลใหญ่ ต้นทุนต่อหน่วยเขาต่ำ เขาก็จะทำได้ อย่างน้อยเราเอามาหุงทำเป็นเมนูอาหาร ต้นทุนก็ไม่ได้สูง 

รู้จักตนเองแล้วทำอย่างไรใช่ไหม เราก็เริ่มมองหาชุมชนที่อยู่ใกล้เราก่อน เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะไปช่วยคนทั้งประเทศได้ ก็เอาชุมชนใกล้ตัวคือที่บางกระดี่ อย่างน้อยก็ไปคุยกับประธานบ้านเอื้ออาทร เพราะว่าเราต้องการให้การช่วยเหลือไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ ในช่วงนี้ เขาก็จะรู้ว่าใครที่เดือดร้อนจริง คนไหนที่ตกงานหรือรายได้ลดจริง ก็มีการคัดกรอง 

แล้วในเรื่องของมีเหตุมีผล ในแง่ที่เราเองมีข้าวเป็นวัตถุดิบ แต่เราขาดกับข้าว ด้วยความที่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสมทบมา พี่เขียง บางสลิดก็สมทบเป็นวัตถุดิบมา ร่วมไปถึงทางเพื่อนพี่เขาสมทบทุนมา เราก็เอาเงินทุนนี้ไปซื้อกับข้าวในระแวกนี้ หรือว่าในกลุ่มเพื่อนๆ ที่เขาทำอาหารก็สนับสนุนกับข้าวมา คือหลักๆ แล้ว นอกจากมีการระดมทุน ก็ใช้เครือข่ายของผมในการหากับข้าวมาผสมผสานเพื่อกินกับข้าวสวยของผม

แล้วในภูมิคุ้มกันคุณมองว่าในหลักของภูมิคุ้มกันมีขนาดไหนกับธุรกิจของคุณในช่วงที่คุณมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม?

เอาเป็นสองพาร์ท พาร์ทแรกในแง่ของธุรกิจหนึ่งบรรจง (ชื่อบริษัทข้าวเพลงรัก) โชคดีที่ก่อนหน้านี้ ในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเป็น Out source หมดเลยทุกอย่าง มันก็เลยหลักๆ เรา เงินที่ไปลงกับข้าวเปลือก สองกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขนม อันนี้เป็นก้อนใหญ่ที่ลงไป แต่จะไม่ลงในสินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร เครื่องจักร ที่ดิน จะไม่ไปลงทุนตรงไหน แรงงานก็ Out source  ในธุรกิจของครอบครัวที่ทำเรื่องเหล็ก ขนส่งก็ Out source กับธุรกิจเหล็กของครอบครัว แต่ถึงแม้ว่าไม่มีธุรกิจครอบครัวตรงนี้ ก็ยังมี Out source ของขนส่ง เช่น ขนส่งของพี่บิ๊ก หรือในระแวกบางกะดี่ก็จะมีคนที่เขาขับรถขนส่งก็จ้างทั่วไป พอเราไม่มีภาระ Fixed Cost ทั้งหลายพวกนี้ ในเวลาวิกฤติอย่างน้อยขาดทุนก็น้อยหน่อย นี่คือพาร์ทแรกของภูมิคุ้มกัน พาร์ทที่สองในแง่ของการลุกขึ้นมาทำบริจาคข้าว ผมมองว่า มันเป็นภูมิคุ้มกันให้เป็นแบรนด์รู้สึกว่า การที่เราสร้างเสริมหรือทำให้แบรนด์มี Positioning ในเรื่องของการแบ่งปันมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันก็สอดคล้องกับจุดกำเนิดของข้าวเพลงรัก

มันสอดคล้องอย่างไร?

ข้าวเพลงรัก จุดกำเนิดมาจากความรักที่เรามีให้กับคนที่เกี่ยวข้อง จุดเริ่มต้นก็คือ มีความรักให้กับชาวนา Stakeholder ของทั้งหมด แล้วก็มาถึงจุดที่เป็นเรื่องของโควิด อย่างน้อยเราตั้งต้นที่ชาวนา แต่ว่าคนที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภคปลายทางก็มีส่วนเหมือนกัน อย่างน้อยมันมีการหมุนเวียนข้าวได้ส่งมอบให้กับคนที่เดือดร้อน ต้นทางก็คือชาวนาที่เขาปลูกข้าว อย่างน้อยเขาก็มีส่วนกับกิจกรรมนี้ด้วย (ได้ช่วยเพื่อนในเมือง เพราะตัวเขาเองไม่ได้เดือดร้อนเรื่องข้าวสาร) ใช่ แต่เขาได้มีความภูมิใจว่า จากที่เขาได้มีการตั้งราคาแล้วได้รายได้ที่ดีขึ้น ข้าวของเขาได้ถูกแบ่งปันให้กับคนที่ลำบากในเมือง

เห็นว่าคุณมีการไปช่วยกิจกรรมอื่นๆเล่าให้เราฟังถึงการทำงานหน่อย?

ก่อนที่จะรับปากกับพี่หนุ่ย (ดร.ศิริกุล) มาทำอันนี้คือขายขนมไม่ได้เลย เราว่างงานแล้ว แล้วรายได้ไม่เข้า อย่างที่เล่าไปตอนต้น เราก็ไม่ได้มองว่าเราจะต้องดิ้นรนหาทางทำรายได้อย่างเดียว มาถึงจุดที่มาช่วยพี่หนุ่ยเรื่องข้าวที่มอบให้กับคนเก็บขยะ ก็รู้สึกว่าเราได้ประสบการณ์เพิ่ม คือได้ทำงาน น่าจะเป็นเชิงเป็นเรื่องของความรู้ พอเราได้ลงมือทำเรื่องใหม่ๆ เราก็จะมีความรู้เพิ่มขึ้น ทั้งหมดเลยตั้งแต่การจัดการ การติดต่อประสานงาน เราได้รู้จักคนมากขึ้น เวลาเราไปติดต่อก็ไปในนามของพอแล้วดีเหมือนกัน มองว่า มันก็เป็นการเสริมในแง่ของแบรนด์เหมือนกัน แต่ที่สำคัญคือเรื่องของความรู้ที่ได้ แล้วก็ที่ไปช่วยเจ๊จง ก็เป็นเหตุผลเดียวกัน ก็เราว่าง อย่างน้อยมันก็มีอะไรทำ พอได้ทำ เหมือนกับได้พูดคุยกับคนที่เขาลำบากเป็นหลักร้อยคน มันก็ทำให้เราเริ่มเข้าไปในอินไซด์ของคนที่เขาลำบาก

การที่ได้ลงพื้นที่ได้เห็นอะไรบ้างคุณได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

ในบางมุม มันก็รู้สึกหดหู่นะ แต่ว่ามันทำให้ตัวเรารู้สึกว่าได้ทำอะไรที่มีคุณค่าบ้าง แล้วในมุมที่ได้รับสาย มันไม่ได้มีด้านลบอย่างเดียว มันมีคนที่โทรมาให้กำลังใจด้วย พี่รับสายในนามแบรนด์ของเจ๊จง เขาก็จะให้กำลังใจถึงร้านเจ๊จง เราก็ถ่ายทอดถึงเจ๊จง แล้วก็รู้สึกดีไปด้วย แล้วก็ได้เห็นน้ำใจ หลายคนที่โทรมา มีวินขายอยู่โซนรามคำแหงบ้างไหม เขาต้องการซื้อ คนที่เขามีกำลังอยู่ เขามีความตั้งใจ โทรมาต้องการให้เราช่วยเชื่อมให้หน่อยว่า แนะนำหน่อย จะได้ซื้อโดยตรง ก็มองเห็นมุมนี้ เห็นอีกมุมก็คือตัวเจ๊จงเขาแทบไม่เอากำไรเลยนะ จริงๆ เขาไม่ต้องมาทำโครงการนี้ก็ได้ อันนี้เป็นโครงการที่เขาแบ่งกำไรไปให้คนอื่นเลย ในแง่ของตัวเงินรายได้เขาแทบไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยได้ช่วยให้คนอื่นที่รับไปขายเขามีรายได้ประทังในช่วงที่เขาลำบากตรงนี้ ก็ได้เห็นไอดอล

แล้วการทำกิจกรรมเพื่อสังคมมันช่วยให้เราได้อะไรบ้างไหมในแง่ของธุรกิจ?

ได้ในเรื่องของ Value คือแบรนด์เป็นสินทรัพย์ เป็นอะไรที่เราจะต้องเช็กสุขภาพตลอด ในช่วงที่เราทำไปแล้วไม่ได้กำไรกลับมา แต่มันก็เหมือนขาดทุนคือกำไร มันอาจจะขาดทุนในแง่ตัวเงิน แต่ว่าเราได้ส่งเสริมให้แบรนด์นี้มีคุณค่า เพื่อคนอื่นมากยิ่งขึ้น คือการที่มีคุณค่าสำหรับคนอื่นอย่างน้อยก็ได้ไปอยู่ในใจของผู้ที่เขารับรู้

การเป็นพอแล้วดี The Creator ช่วยคุณแก้วิกฤตที่เข้ามากระทบกับธุรกิจของคุณอย่างไรบ้าง?

ได้ครบทั้ง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ ได้รู้จักตน คือ การเข้าโครงการมันทำให้เราเข้าใจในหลักนี้ได้มากขึ้น แล้วก็เป็นโอกาสเผยแพร่หลักนี้ด้วย โดยการแจกข้าวพร้อมกับมอบความรู้ให้แต่ละครั้งที่แจกข้าว เพื่อที่อย่างน้อยเขาได้อ่านได้สัมผัสซึมซับไปด้วย เพราะว่าเรามองว่า เราได้รับความรู้จากโครงการ ในเรื่องการลงมือปฏิบัติ การเวิร์คช็อปต่างๆ มันใช้ให้เราประคองตัวเราในช่วงวิกฤตจริงๆ ถ้าจะให้ลงดีเทลว่า มันทำให้เรามีสติประคองกับการแก้ปัญหาต่างๆ อย่างไร เช่น อย่างที่เล่ามาตั้งแต่ตอนแรกว่า ไม่มี Fixed Cost เยอะ การที่ลีนที่สุด เบาที่สุด มันทำให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ หรือว่ามีวิธีอื่นที่ทำให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้

มันมีอีกคือ การที่เรายังคง Brand Passion เหมือนเดิม แต่เราปรับ Business Model ได้ว่า จากที่เราเอาข้าวมาทำเมนูแล้วแจกให้ชุมชน มันกลายเป็นว่า คนที่เขารู้เขาสมทบทุนเข้ามาด้วย แล้วทำให้เราสามารถที่จะทำต่อเนื่อง แล้วมันทำให้เป็นรายได้แล้วมันก็เป็นรายได้ส่วนหนึ่งที่เข้ามาของช่วงนี้ คือเราขายข้าวอยู่แล้ว ก็คนที่บริจาคเงินเข้ามา เราก็เอามาซื้อข้าวแบรนด์ของเรามาหุง

ระหว่างการทำธุรกิจเพื่อสร้างกำไรกับการสร้างประโยชน์กับสังคมพี่คุณให้ความสำคัญมันอย่างไร?

ลำดับความสำคัญกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมก่อน เพราะว่าตัวเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ถ้าเกิดสังคมดี ตัวเราก็ดีไปด้วย เพราะว่ามีสัมผัสโดยตรงเลย ยิ่งสถานการณ์นี้ยิ่งเข้าใจเลย การทำเพื่อคนอื่น แล้วคนอื่นเขาก็เห็นคุณค่าเรา ปรากฏเขาก็สนับสนุนเราด้วย อย่างที่บอกว่า ทั้งเรื่องของเงินทุนที่เข้ามา เรื่องของวัตถุดิบที่เพื่อนสมทบเข้ามาในโครงการที่ทำนี้ มันมากกว่า ถ้าสมมติเปรียบเทียบในเรื่องของยอดขายนะ ถ้าพี่ยังคงพยายามดันเพื่อให้ขายขนมให้ได้ มันก็จะไม่เท่ากับการทำสิ่งนี้ น่าจะเรียกว่าเป็น KPI วัดอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราถ้าเราให้ความสำคัญกับสังคมก่อน แล้วเรื่องกำไรของเราเอาไว้ทีหลังได้ มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

หน้าที่ของพอแล้วดี The Creator คืออะไร?

ในแง่ที่ว่า พอแต่ละคนในกลุ่มมีนามสกุลพ่วงท้ายว่า เป็น Creator ก็อยากจะทำให้หน้าที่ของ Creator ตามชื่อเลย อย่างพี่อาจจะแจกข้าวก็ยังมีข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวกับศาสตร์ที่ช่วยให้แก้วิกฤตได้จริง รวมทั้งภาวะปกติ ผมคิดว่า มันควรเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เข้ามาอยู่ในโครงการ ทำตัวเราให้มีพลังขับเคลื่อนอย่ารอให้วิกฤตขับเคลื่อนเรา อย่านิ่งดูดาย ในยามที่มีคนเดือดร้อน 

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักการในการพึ่งพาตัวเองและให้เราเกื้อกูลไปยังผู้อื่น วันนี้มันพิสูจน์แล้ว ผมจึงคิดว่าถ้าทุกคนหันหน้าเข้าศึกษาและเรียนรู้ ไม่วิ่งตามก้นฝรั่งจนมากเกินไป เราจะเห็นสิ่งดีๆ ที่ในหลวง ร.9 ท่านส่งมอบให้ไว้เป็นแนวทาง 

สั่งผลิตภัณฑ์ของข้าวเพลงรักได้ที่
https://www.facebook.com/nuengbunjong/