คุณไกรยุทธ คงทวี

“ProEngy พลังงานจากผลิตผลทางการเกษตรชั้นดีของไทย”

ProEngy อาหารธัญพืชแบบแท่งสำหรับนักกีฬา หรือ Energy Bar ที่ได้จากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพดี โดยมีส่วนผสมหลักจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ขึ้นชื่อของสุรินทร์ และผลไม้ไทยที่ให้พลังงานสูงจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศ ProEngy จึงเป็นหนึ่งของความภูมิใจในการต่อยอดเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทย สู่การสร้างพลังงานให้กับนักกีฬา และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในหลายภูมิภาคของไทย

ชื่อ : ไกรยุทธ แสวงสุข (เบนซิน)

ธุรกิจ : ProEngy

จังหวัด : สุรินทร์

จุดเริ่มต้นจากข้าวหอมมะลิ

ในช่วงที่ผ่านมาข้าวหอมมะลิมีราคาตกต่ำลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของทางบ้าน และธุรกิจเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิในจังหวัดสุรินทร์ เบนซินจึงคิดหาวิธีในการต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี โดยเริ่มจากตนเองเป็นนักกีฬารักบี้ที่บริโภค Energy Bar หรือธัญพืชแบบแท่งสำหรับนักกีฬาก่อนออกกำลังกายเป็นประจำ จึงเกิดแนวความคิดในการผลิต Energy Bar ที่มีส่วนผสมผลักจากข้าวหอมมะลิ และผลไม้ที่มีมากมายในประเทศไทย จากนั้นจึงได้มีการหาความรู้ในการแปรรูปข้าวหอมมะลิในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเป็นอาหารธัญพืชแบบแท่งสำหรับนักกีฬาที่ให้พลังงานสูง

พลังงานจากผลไม้เมืองร้อนสู่พลังงานของนักกีฬา

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ Energy Bar ที่นำเข้าจากต่างประเทศมากมาย ซึ่งประเทศไทยก็อุดมไปด้วยผลไม้เมืองร้อนที่ให้พลังงานสูงที่สามารถนำมาผลิตเป็นส่วนผสมของ Energy Bar ได้ ด้วยเหตุนี้เบนซินจึงได้นำผลไม้อื่น ๆ ที่ให้พลังงานสูงจากทั่วประเทศ เช่น ลำไย มะม่วง อินทผาลัม มังคุด เงาะ รวมทั้งธัญพืชอีกหลากหลายที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีในประเทศไทย มาเป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ดีจากสุรินทร์ เกิดเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นอาหารธัญพืชแบบแท่งสำหรับนักกีฬาที่ให้พลังงานสูง รสชาติดี และให้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฝึกซ้อมและการแข่งขันสำหรับนักกีฬา

พลังงานที่ยิ่งใหญ่ เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ

ProEngy มีจุดเริ่มต้นจากโรงงานเล็ก ๆ ในครัวเรือน โดยมีการพัฒนาปรับปรุงส่วนผสมเพื่อสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้ผลิตภัณฑ์และเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยและผลไม้ไทยจากเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะปลูกผลไม้ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์อาหารที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร ให้ได้แสดงศักยภาพและอยากที่จะทำงานในพื้นที่ไม่ต้องออกไปทำงานในเมืองใหญ่ และยังมีการสร้างรายได้เสริมให้กับคนในพื้นที่หลังการเพาะปลูกด้วยการจ้างแรงงานและส่งเสริมการเพาะปลูกธัญพืชหลังการทำนา เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมตลอดทั้งปี

คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พึงระลึกอยู่เสมอ

“วิริยะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ หมายความว่าต้องเพียร ต้องมีความขยัน  วิริยะนี้ก็คู่กับขันติ คือมีความอดทน  บางทีเวลาเราทำงานอะไรก็ตาม ทั้งในทางโลกทางธรรม เราทำงานแล้วเหนื่อย  เมื่อเหนื่อยก็ต้องมีความอดทนในความเหนื่อยนั้น ก็ต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติต่อไป
ฉะนั้น  พูดไปก็ต้องเห็นว่า ความเพียรกับความอดทนนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้งานใดๆ บรรลุผลได้  เมื่อมีความเพียร มีความอดทนแล้ว สิ่งอื่นก็มา
แต่ในความเพียร ในความอดทนนี้ ก็ต้องมีการเอาใจใส่  การเอาใจใส่นั้นคือติดตามอยู่ตลอดเวลาว่างานของเราไปถึงไหน แล้วก็ไม่ควรจะเผลอ  ต้องให้มีการดูติดตาม ไม่ฟุ้งซ่าน”

(พระราชดำรัส เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา  วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2528)

คำสอนที่ยึดมั่นเสมอมาคือความเพียร ความอดทน ในการทำงานในการธุรกิจและรู้จักรอ รู้จักตัวเอง ปล่อยวางบ้าง ต่อสู้บ้าง หาจังหวะให้เหมาะสม  ไม่ฟุ้งซ่าน

ยกตัวอย่าง เช่น การทำงานร่วมกับเกษตรกรที่เพาะปลูก ต้องอดทนต้องรับฟังปัญหาที่เขาพบและมีสติหาแนวทางแก้ไขไม่โมโห การอดทน อดกลั้น รอจังหวะ และไม่ท้อแท้ หรือการทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เราเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก เราไม่มีทุนที่จะจ้างนักพัฒนา ราต้องหาข้อมูล และหาผู้เชี่ยวชาญช่วยเหลือ จึงต้องใช้เวลานานและต้องมีความอดทนและพยายามมากกว่าผู้อื่นโดยไม่ต้องคิดแข่งขันกับใคร

สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะ พอแล้วดี The Creator รุ่น 2

ในฐานะที่ได้เข้าร่วมโครงการพอแล้วดี ต้องยอมรับว่าเป็นโครงการที่ได้รับอะไรมากมายทั้งความรู้ เทคนิค วิธีการในการธุรกิจ ที่เหมาะสมและมีเหตุผล สิ่งหนึ่งที่มากมายและมีคุณค่ามาก ๆ สำหรับผมคือมิตรภาพจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ผู้เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่เสียสละเวลามาสอน นับว่าเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต กับธุรกิจชุมชนเล็ก ๆ จากต่างจังหวัดที่ได้เข้ามาเจอกับสิ่งดี ๆ อย่าง “พอ แล้ว ดี”

สิ่งที่ชัดเจนสำหรับแนวทางการทำงานของผมคือ  ธุรรกิจที่ไม่มุ่งหวังแต่เพียงผลกำไรอย่างเดียว ยังต้องนึกถึง บุคลากร และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย การรู้จกตนเอง ไม่โลภ ไม่เบียดเบียน จะทำให้ทำงานอย่างพอดีมีสุข

อาจารย์สอนเรื่องธุรกิจแบบชัด ๆ ให้กับคนที่ไม่มีความรู้การตลาดได้เข้าใจในเชิงลึกและปรับใช้ในธุรกิจได้จริง และมีอนาคตที่จะประสบความสำเร็จ ถ้าชัดเจนแน่วแน่ในแนวทางว่าจะต้องทำอะไรต่อ

ความพอดี ความพอเพียง ใช้ได้กับการทำธุรกิจได้จริง ๆ