คุณปิลันธน์ ไทยสรวง

คิด แล้วลงมือทำ

เป็นความตั้งใจที่จะต้องกลับบ้านเกิดอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และเมื่อเข้าสู่วัย 30 ปี ก็ได้เวลากลับบ้านพร้อมองค์ความรู้บางส่วนเกี่ยวกับเรื่องผ้าย้อมธรรมชาติตั้งแต่ปี 2557  และคิดว่าน่าจะอยู่บ้านได้ด้วยอาชีพเกี่ยวกับผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งมีเสน่ห์ และคนใช้ผ้าจำนวนหนึ่งน่าจะชอบผ้าประเภทนี้ จึงปักหลักที่บ้านเกิดตั้งแต่ปี 2559 

“เนื่องจากพื้นฐานของเหมี่ยวไม่ใช่คนค้าขายมาก่อน เพราะฉะนั้นการทำผ้าภูครามเหมี่ยวไม่ได้ศึกษาตลาด หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเลย และที่สกลนครเองเหมี่ยวก็ไม่ได้รู้จักใครเลย จะมารู้จักมากขึ้นเมื่อออกบูธงานแสดงสินค้า แต่ก็เป็นความตั้งใจที่จะนำเรื่อง มองโลกให้สมดุลย์ และถ่ายทอดสิ่งนี้ลงในผ้าภูคราม”

กระบวนการมีส่วนร่วม

ภูคราม เป็นเหมือนงานวิจัยต้องมีการลองผิดลองถูก และต้องมีเรื่องการสร้างคนของภูคราม  เราต้องสร้าง “คน” ที่รู้สึกเหมือนกับเราให้ได้มากที่สุด ภูครามจึงจะอยู่ได้ ไม่ใช่การขายสินค้าเท่านั้น  การทำงานของภูครามคือการดึงศักยภาพของคนออกมาแบบปรุงแต่งน้อยที่สุด  ทำให้สินค้าที่ทำงานกับชุมชนมีความ Unique ชัดเจนทั้งชุมชนและตัวเหมี่ยวเอง

“สินค้าภูครามมีพลังของชุมชน มีแรงบันดาลใจจากภูพานและมีมุมมองของของเหมี่ยวที่เพียงแค่คอยนำทาง ผสมผสานกันอยู่ เพราะฉะนั้นจึงมีมากกว่า 1 ส่วนในเสื้อ 1 ตัว  รวมถึงมีสัญชาตญาณข้างในไม่ปรุงแต่งของคนทำอยู่ด้วย  ซึ่งในงาน 1 ชิ้นของภูครามจะมี 3 ส่วนใหญ่ๆ คือหนึ่งเทือกเขาภูพานเป็นพลังสร้างแรงบันดาลใจ เพราะเราอยูที่นี่ เราอยากจะอนุรักษ์ที่นี่ทั้งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม นอกจากนี้เราใช้คนภูพาน คนภูครามที่เราขัดเกลา ไม่ให้ลอกงาน ซึ่งขณะนี้คอนเซ็ปต์มาจากเหมี่ยว วิธีนำทางมาจากเหมี่ยวคือ พยายามมองโลกให้สมดุล และจะถ่ายทอดให้คนเห็นชัดอย่างไร  ส่วนรายละเอียด และความรู้สึก ช่างต่างๆ จะไปทำต่อ”

กระบวนการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้น ช่วยให้มะเหมี่ยวและชาวบ้านเห็นความงามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นความงามได้  ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกและสังเกตกับสิ่งนี้ได้มากขึ้น ส่งให้ชาวบ้านซึมซับเรื่องนี้ ผูกพันกับพื้นที่ และอยากรักษาธรรมชาติของภูพานให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลานต่อไป

คิดถึงแบรนด์ ภูคราม (Bhukram)

 ผลงานแต่ละชิ้นไม่เหมือนกันเลย เพราะเป็นงานแฮนด์เมด ทั้งเนื้อผ้า ลายผ้า ฝ้ายที่ใช้ปัก และสีผ้าคราม หรือสีเปลือกไม้ของภูพาน คนซื้อจะรู้ว่า ต้นทางทำงานของผ้า 1 ชิ้น ต้องการบอกอะไร และผ่านอะไรมาบ้าง ซึ่งการทำงานที่เกิดขึ้นเกิดจากข้างในแต่ละบุคคลที่มีความหลากหลาย ให้สะท้อนออกมาที่สินค้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ

คำสอนในหลวง ร.9 ที่พึงระลึกเสมอ

 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำงานหนักและทุ่มเทมาก ทรงนึกถึงผู้อื่นเสมอ เป็นเรื่องความเพียร และการเสียสละ

ในฐานะพอแล้วดีรุ่น4

 สำหรับโครงการ พอ แล้ว ดี คือความสมดุลย์ทางความคิด การใช้ชีวิต และการทำธุรกิจ ซึ่ง พอ แล้ว ดีจะบอกว่าเมื่อขาดก็เติม เกินต้องให้  เป็นสมดุลที่มองทั้งคนอื่น และมองทั้งตัวเอง

ความพอดีของเหมี่ยวในงาน คือการจัดการให้ชัดเจน  การทำงานทีเรารู้สึกว่ามีความสมดุลในการวางเป้าหมายทั้งตัวเหมี่ยวเองในกระบวนการทำงาน และชาวบ้าน  ความสมดุลของเหมี่ยวรู้สึกได้ 2 ส่วนคือ ระบบการบริหารเรื่องหลังบ้าน และการบริหารการทำงานของเป้าหมาย ของเรากับชุมชน หรืออะไรก็ตามแต่ เมื่อเราเห็นแบรนด์โมเดลตัวเองชัดเจนแล้ว ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือความสมดุลที่เราทำอยู่  มันมีเส้นทางที่เราควรจะต้องทำให้งดงามยิ่งขึ้น”