คุณวรรณวนัช จิตราพันธ์ทวี

คำว่า ‘เริ่มต้นจากศูนย์’ อาจเป็นการเริ่มต้นสำหรับธุรกิจทั่วไป แต่สำหรับหญิงสาวชื่อดอย-วรรณวนัช จิตราพันธ์ทวี การเริ่มต้นสานต่อธุรกิจโรงแรมใหญ่ประจำจังหวัดของครอบครัว นับหนึ่งจากทุนที่ ‘ติดลบ’ นับร้อยล้านบาท ที่ครอบครัวช่วยกันรักษาไม่ให้โรงแรมที่เคยเป็นหุ้นส่วนถูกยึดไป

 ก่อนหน้านี้ ดอยเป็นเพียงหญิงสาวคนหนึ่งที่เรียนตามระบบ ทำงานตามระบบ ประสบความสำเร็จในฐานะบัณฑิตจบใหม่ตามระบบ และมีรายได้ประจำน่าพอใจตามระบบ เธอเคยคิดฝันเล่นๆ ว่าหากมีเงินร้อยล้านจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เธอได้ คือการเป็นหนี้ร้อยล้านจากธุรกิจที่รับไม้ต่อจากผู้บริหารคนก่อนแทน ท่ามกลางปัญหามากมายที่อาสาเข้ามาแก้ไข เธอยังคงมีคำถามต่อสิ่งที่กำลังทำเพราะไม่อาจแน่ใจว่ามาถูกทางไหม และหากวันหนึ่งปลดหนี้ได้ อะไรคือความหมายของชีวิต หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ตอบคำถามนั้น และเป็นคำตอบที่พลิกมุมคิดต่อชีวิตและธุรกิจของเธอไปสิ้นเชิง

 จากต้นทุนติดลบ เริ่มสู้ด้วยการรู้ปัญหา

ย้อนกลับไปในวันที่เพิ่งเรียนจบ ดอยในฐานะบัณฑิตสาวนักบัญชีมุ่งมั่นที่จะได้ทำงานเงินเดือนดีๆ ตามมาตรฐานความสำเร็จที่วาดภาพไว้ เธอจึงผ่านงานมั่นคงมาหลากหลายรูปแบบตั้งแต่บริษัทใหญ่จนถึงแอร์โฮสเตส แต่ระหว่างเป็นนางฟ้าติดปีกอยู่ หญิงสาวก็สังเกตเห็นว่าสถานการณ์ที่บ้านแปลกไป

“วันที่ไปเป็นลูกเรือ เราก็เริ่มรู้แล้วว่าที่บ้านต้องมีอะไรแน่นอน แต่แม่แค่ไม่บอกเพราะไม่อยากให้ลูกรับรู้ ทุกเดือนที่เราส่งเงินกลับไปให้ เขาจะไม่บอกว่าเอาไปใช้ทำอะไร แต่เหมือนมีสิ่งที่จำเป็นต้องเอาไปใช้ทุกเดือน เราก็เริ่มรู้สึกว่า ถ้าไม่ได้ลำบากจนถึงขนาดนั้น เขาน่าจะบอกเราว่าเก็บไว้ก่อนก็ได้”

กระทั่งดอยลาออกและได้กลับมาอยู่บ้านยาวนานเป็นครั้งแรกหลังเรียนจบ เธอจึงรู้ว่าครอบครัวเข้าไปสานต่อกิจการโรงแรมพะเยาเกทเวย์ ที่เป็นหุ้นส่วนอยู่เพราะโรงแรมกำลังจะถูกยึด ดอยรู้ตัวดีว่าเธอไม่มีความรู้อื่นที่จะเข้าไปช่วยได้นอกจากการทำบัญชี เธอจึงตัดสินใจขอไปเรียนต่อคอร์สสั้นด้านการโรงแรมก่อนกลับมาช่วยครอบครัวเต็มตัว

เมื่อก้าวเข้าสู่กระบวนการพลิกฟื้นโรงแรม หญิงสาวก็พบว่าทุกอย่างยุ่งเหยิงจนแทบไม่รู้จะเริ่มจัดการตรงไหน แต่ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจเริ่มก้าวแรกที่แผนกต้อนรับแล้วลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

“ตอนนั้นรู้สึกว่าที่ต้องเข้าไปจัดการก่อนคือแผนกต้อนรับเพราะเกี่ยวกับห้องพักโดยตรง เราหารายได้จากตรงนี้ได้เป็นอย่างแรก และอยากรู้ว่าสาเหตุของปัญหามาจากไหน แขก complain อะไร ก็ได้รู้ว่ามีตั้งแต่เรื่องบริการ ห้องไม่สะอาด ไม่ปรับปรุง ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีเงินรีโนเวตเพราะใช้เงินไปมากตั้งแต่ตอนต้น เลยคิดว่าเริ่มจากสิ่งที่ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แต่ทำแล้วรู้สึกว่ามันดูดีขึ้นบ้าง เช่น ทาสี เปลี่ยนผ้าม่าน ห้องก็ดูดีขึ้นระดับหนึ่ง แขกก็เริ่มบ่นน้อยลง แล้วเราก็มาดูว่าโรงแรมตั้งราคายังไง สูงไปหรือเปล่า และจากวันแรกที่มีพนักงานเกือบร้อยคน พอเราเริ่มจริงจังกับการตรวจห้องตามมาตรฐานโรงแรมเครือใหญ่ ซึ่งเขาไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน คนที่อยู่ไม่ไหวก็ออกไปเอง ปัจจุบันเหลือแค่ 70 คน แต่คือคนที่อยู่กันมานานและรักเราจริงๆ ”

หลังจากประจำอยู่แผนกต้อนรับหนึ่งปี ดอยเริ่มไปตรวจดูระบบของแผนกอื่นๆ ที่ต้องยกมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็เริ่มใส่แรงจูงใจให้พนักงานด้วยค่าตอบแทนที่ร่วมกันทำให้โรงแรมที่ขึ้น ปัญหาที่ยุ่งเหยิงในพะเยาเกทเวย์ ได้รับการแก้ไขไปทีละเปลาะจนทุกอย่างเริ่มอยู่ตัว แต่แทนที่จะสบายใจ หญิงสาวกลับเริ่มตั้งคำถามว่าตัวเธอจะยังมีคุณค่ากับธุรกิจนี้ไหมหากไม่มีปัญหาให้แก้

“ชีวิตช่วงนั้นจึงเหมือนถอยกลับไปค้นหาตัวเอง ก่อนหน้านี้ เรารู้สึกว่าคนที่มีเงินเยอะคือดี ดูรายการอายุน้อยร้อยล้านแทบทุกวัน แต่พอมองออกไป เราเห็นธุรกิจที่ได้พันล้านใน 3 เดือนแต่ก็เริ่มตายไป เราได้เห็นว่าหลายเจ้าเริ่มมีปัญหา แล้วเราก็เริ่มสงสัยว่าเขาได้ร้อยล้านแล้วมีความสุขจริงเหรอ แบรนด์ยั่งยืนจริงเหรอ เงินอาจไม่ใช่คำตอบก็ได้ แต่คำตอบคืออะไรล่ะ”

หาตัวเองให้เจอ สร้างคุณค่าให้ถูกทาง

พะเยาเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่สู้พี่ใหญ่อย่างเชียงใหม่ไม่ได้ แหล่งท่องเที่ยวไม่ถูกส่งเสริมชัดเจนเหมือนเชียงรายหรือเมืองน่าน สิ่งที่คนทั่วไปรู้จักมีเพียงกว๊านพะเยา การจะลุกขึ้นมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โปรโมตให้คนมาพักที่พะเยาเกทเวย์จึงดูเป็นงานที่ใหญ่เกินตัว

และเมื่อหันมามองตัวเองให้ชัด สิ่งที่พะเยาเกทเวย์มีอยู่โดยที่ไม่ต้องสร้างใหม่หรือยกเครื่องให้วุ่นวาย คือธุรกิจ MICE หรือ Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibition) หรือสถานที่จัดประชุมที่ได้มาตรฐานนั่นเอง

“เราพบหัวใจของเราจากการสังเกตคนที่เช็กอิน คนส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการ เขาจะรู้สึกภูมิใจเมื่อได้มาประชุมที่นี่ เขาจะเช็คอินว่าวันนี้มาประชุมที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์นะ ช่วงหลังๆ ก็เร่ิมโพสต์รูปอาหาร เราก็เริ่มมาให้ความสำคัญกับการจัดประชุมมากขึ้น ที่จริง การจัดประชุมทำกำไรได้น้อยกว่าห้องพัก เพราะมีต้นทุนที่สูงกว่า แต่เมื่อเราเริ่มปรับเมนูอาหารให้มีอาหารพื้นถิ่นมากขึ้น ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกของการประชุม ก็ได้คำชมว่าอาหารก็อร่อย ห้องประชุมก็ดี ห้องน้ำก็ดี จนกลายเป็นจุดเด่นของเรา”

รู้จักตัวเอง มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน กลายเป็นหลักใหญ่ใจความที่ทำให้หญิงสาวรู้ว่าจะดำเนินธุรกิจต่อไปเช่นไร และเห็นโอกาสที่จะสร้างคุณค่าได้มากกว่าที่เคยเป็น“เมื่อก่อนเราเปรียบเทียบกันคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่พอใจสิ่งที่มีอยู่เลย แต่เมื่อเรารู้สึกภูมิใจว่าเรามีครอบครัวที่ดี มีธุรกิจที่ดี และมีพนักงานที่ดี เราก็รู้ว่าอะไรที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ ถ้าลูกค้าเข้ามาเยอะ เราจะดีใจมากเพราะเห็นตัวเลขเพิ่มทุกเดือน แต่บางคนที่เรารับเข้ามา ก็ไม่ได้เหมาะกับธุรกิจเรา ตอนหลังเราจึงเลือกลูกค้ามากขึ้นตามลำดับความสำคัญ บางครั้งมาชนกัน 3 งาน เราจะเลือกเลยว่าใครเหมาะที่สุด แล้วเราจะสร้างคุณค่าอะไรให้เขาได้บ้างพอทำแบบนี้ เราก็เห็นใจพนักงานมากขึ้นด้วย เพราะเขาทำงานหนักเพราะกลัวงานไม่ดี เราก็คิดกับเขาเหมือนคนในครอบครัวมากขึ้น คิดถึงคนอื่นมากขึ้น”

โรงแรมที่พอดีของชาวพะเยา

เมื่อพบหัวใจความพอดีของธุรกิจ โรงแรมพะเยาเกทเวย์ในตอนนี้จึงค่อยๆ เติบโตไปอย่างถูกทิศและยั่งยืน โดยดอยยืนยันยันว่าความพอดีย้อนมาส่งผลให้ธุรกิจของเธอดีขึ้นได้จริง

“พอเราเลือกกลุ่มลูกค้า รู้ว่าความพอดีคือตรงไหน ตอนมานั่งคิดต้นทุนก็พบว่าธุรกิจได้กำไรมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะพอเรารับคนที่ชอบเราจริงๆ คะแนนความพึงพอใจของลูกค้าซึ่งเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ก็ดีขึ้น แล้วคนอื่นที่มาเห็นก็อยากมาทดลองใช้บริการ”

การพบว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างจึงไม่ได้หมายถึงการตัดขาดจากผลกำไร แต่คือการก้าวไปในจังหวะที่พอดีพร้อมกับสังคมรอบตัว ขณะเดียวกัน คำถามที่เธอเคยมีต่อตัวเอง ว่าหากปัญหาของโรงแรมได้รับการคลี่คลายเธอจะยังคงมีคุณค่าอยู่ไหม และคำตอบที่ได้บนฐานคิดของคำว่า ‘พอแล้วดี’ คือความรู้สึกที่เธอมีทุกครั้งตอนตื่นลืมตา เธอบอกว่า “ดอยไม่ใช่คนที่มีแพสชั่น แต่ดอยรู้ว่าอยากใช้ความถนัดของตัวเองเพื่อทำประโยชน์ให้กับคนอื่น”

ในฐานะผู้บริหาร เธอจึงให้ความสำคัญกับชุมชนที่โรงแรมสามารถจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนได้ เช่นการรับซื้อปลานิลจากกลุ่มเกษตรกรที่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาดในเดือนน้ำหลาก เพราะปลานิลตัวใหญ่มากจนร้านอาหารไม่รับซื้อ เธอก็ลงพื้นที่ไปคุยว่าจะมีแนวทางใดบ้างที่จะแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากหลายวัตถุดิบของพะเยา ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ ปลาส้ม หรือผลิตภัณฑ์ในชุมชนที่เธอสามารถสนับสนุนให้เติบโตไปด้วยกัน มากกว่าแค่รับซื้อหรือนำมาวางขายตามรูปแบบเดิมๆ   นั่นเพราะภาพอนาคตที่เธออยากเห็น คือภาพของพะเยาเกทเวย์สามารถเป็นประตูที่สร้างความภูมิใจให้ผู้คนในบ้านเกิดของเธอ

“เป้าหมายสูงสุดของเราคืออยากเป็นโรงแรมที่เป็นความภูมิใจ เป็นแรงบันดาลของคนในจังหวัด ทุกอย่างในโรงแรมสะท้อนความเป็นพะเยาทั้งการบริการ การมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งเราก็ตั้งใจจะโปรโมตแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักเพื่อสร้างงานให้พวกเขา ตั้งใจช่วยชูของขึ้นชื่อของพะเยาให้เป็นของดีประจำจังหวัด เราอยากเป็นโรงแรมที่คนพูดถึงแล้วรู้สึกว่าเราเริ่มทำจากแค่จุดเล็กๆ แต่ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้”

นับเป็นเป้าหมายที่น่ายั่งยืน น่าชื่นใจ และห่างไกลจากจุดเริ่มต้นที่ติดลบนั้นมากมายเหลือเกิน

“ความพอดีของเราคือตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่าเรารู้จักตัวเองหรือยัง วันนี้เราจะทำสิ่งต่างๆ ให้ดีกว่าเดิมได้ยังไง และเมื่อเราเริ่มแข็งแรง พรุ่งนี้เราจะทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง”