คุณผกามาศ อินทับ

“สามีได้กินสลัดฝีมือคุณครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่”

ประโยคด้านบนคือสิ่งที่เทรนเนอร์โครงการพอแล้วดี The Creator เอ่ยถามมิ้ม-ผกามาศ อินทับ เจ้าของแบรนด์ผักสลัด SALADD เป็นคำถามเรียบง่ายแต่พุ่งตรงจุดจนแม่บ้านผู้ลุกขึ้นมาสร้างธุรกิจร้านอาหารสุขภาพน้ำตาไหล เพราะมันทำให้เธอระลึกถึงความไม่พอดีที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางการทำสิ่งที่รัก

“เรารู้สึกจุกมาที่อกเลยว่า เราลืมคนที่ร่วมทางกันมาไปได้ยังไง ทุกอย่างเริ่มตีกลับให้เรามาย้อนคิดว่า สรุปสิ่งที่ทำอยู่แล้วบอกว่าทำเพื่อครอบครัว ทำเพื่อลูก ที่จริงแล้วทุกคนไม่ได้ต้องการ พวกเขาต้องการเรา ต้องการเวลาจากเรา ซึ่งพอถามแฟนว่าสิ่งที่เราทำมันเกินไปมั้ย เขาก็บอกว่าถ้าอันไหนเป็นความสุขของเรา เขาก็ทำตาม แต่ว่าเราต้องโฟกัสที่ลูกด้วย ไม่อย่างนั้นลูกจะเติบโตไปอย่างไม่ได้รับการเติมเต็ม แล้วคนที่จะเสียใจที่สุดก็คือเรา”

และนี่คือเรื่องราวแบรนด์ผักสลัดเล็กๆ ที่ฝ่าฟันสารพัดปัญหาเพื่อก้าวสู่จุดที่ ‘ดีพอ’ และ ‘พอดี’ สำหรับธุรกิจและทุกคนรอบตัว

ตั้งใจดี แต่ยังประมาณตัวเองไม่พอดี

ต้นกำเนิดของแบรนด์  SALADD มาจากจานผักสลัดที่มิ้มลงมือปรุงให้สามีกิน

พอเริ่มมีครอบครัว เราก็ฝึกทำกับข้าวจนรู้ว่าสามีชอบกินสลัดมาก เลยค้นดูว่ามันจะมีหลากหลายรสชาติให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ได้มั้ย แล้วก็ทำจนมั่นใจว่าจะลองทำให้คนอื่นกินดูบ้าง เลยเกิดเป็นธุรกิจ เราตั้งใจอยากทำสลัดจากผักที่ดีสู่ผู้บริโภคเพราะเราทำสลัดให้คนในครอบครัวทาน ถ้าทำเป็นธุรกิจ ก็ต้องทำให้ดีเพราะมองว่าผู้บริโภคก็คือคนในครอบครัว”

แต่เพราะมุ่งมั่นทุ่มเททำสิ่งที่รัก นานวันเข้า ธุรกิจเปี่ยมความตั้งใจดีนี้กลับพาให้มิ้มห่างจากความสมดุลในหลายด้านของชีวิต

“เราเดินเยอะเพราะเป็นการทำร้านอาหารและอยากทำเองทุกอย่างเพราะคิดว่าตัวเองทำได้ดี เรามีปัญหาที่ข้อเท้า มันทำให้สุขภาพแย่ลง ส่วนเรื่องการพักผ่อน เราก็นอนหลับยาก กรดไหลย้อน มันสะท้อนกลับมาที่ร่างกายเราหมดว่าเธอทำเยอะไปแล้ว ร่างกายจะไม่ไหวแล้ว  นอกจากนั้น เราก็แทบไม่มีเวลาให้สามีและลูกเลย ไปส่งลูกก็ไม่ได้ไป เช้ามาเราไปซื้อของ นึกถึงแต่ว่าฉันต้องเปิดร้าน ต้องเตรียมของ ต้องสั่งโน่นทำนี่ พอเปิดร้านปุ๊บก็เหนื่อยแล้ว พักผ่อน”

ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป

หลังตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator เพราะต้องการระบบไปจัดการธุรกิจที่เริ่มต้นโดยขาดการวางแผนจริงจัง มิ้มพบว่าเธอไม่ใช่แค่ได้ทบทวนจนได้แผนธุรกิจเท่านั้น แต่ยังได้ทบทวนตัวเองจนพบจุดไม่สมดุลในชีวิต

“สิ่งยากที่สุดในโครงการสำหรับเราคือการรู้จักตัวเอง” มิ้มอธิบาย “เพราะยิ่งอยู่กับมันมานาน เราก็เหมือนชินชาจนไม่ค่อยมีเวลาทบทวนตัวเอง พอมานั่งทบทวนจริงๆ ก็ทำให้เราฟุ้งไประดับหนึ่งว่าอยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ จนพอถึงจุดหนึ่งก็คิดได้ว่าทำไมต้องอยากเป็นคนอื่น ทำไมต้องอยากเก่ง แล้วพอเราแค่เป็นตัวเอง ทำสิ่งที่ทำอยู่และต่อยอดจากแนวคิดที่มีอยู่ แค่นี้ก็เหมือนเราปลดล็อกตัวเอง ความกดดันต่างๆ หายไป

“นอกจากนั้น พอได้ยินคำถามว่าแฟนได้กินสลัดฝีมือเราจานสุดท้ายเมื่อไหร่ เราก็เลยได้ฉุกคิดว่าต้องรักษาสมดุลทุกอย่างให้พอดี ให้เราทำธุรกิจได้อย่างมีความสุข ครอบครัวเรามีความสุข รวมถึงมีชีวิตและสุขภาพดีด้วยเพื่อที่จะทำในสิ่งที่รักไปนานๆ”

ไม่หมดแค่นั้น การเข้าร่วมโครงการนี้ยังจุดประกายให้มิ้มเห็นทางใส่สิ่งที่เรียกว่าคุณธรรมลงในส่วนอื่นของธุรกิจ

“ก่อนหน้านี้เราแทบไม่ได้เจอเกษตรกรเพราะมีพ่อค้าคนกลาง มีรถตู้เย็นมาส่งผัก 40-50 กิโลกรัมไว้แล้วก็ไป เราแทบไม่ได้พูดคุยหรือถามเลยว่า ผักมาจากไหนคะ ฟาร์มไหนคะ ไปเที่ยวได้ไหม แต่สิ่งที่เราได้จากโครงการซึ่งถือว่าเกินความคาดหวังคือ แนวคิดเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรที่จะเข้ามาร่วมมือทำธุรกิจให้ยั่งยืนไปด้วยกัน  ซึ่งเราก็มองว่าถ้าทำเองทุกอย่างจะไม่เกิดการสัมพันธ์ เราอาจโตได้ แต่โตคนเดียวแล้วเดินไปแบบเหงาๆ และที่จริงเราเกิดมาจากครอบครัวเกษตรกร ไม่เคยมีคำว่ารวยในหัวและชอบช่วยคนอยู่แล้ว ยิ่งได้เข้ามาเรียนรู้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ร่ำรวยแล้วค่อยนึกถึงคนอื่น

“นอกจากนั้น พอโครงการพูดถึงเรื่องความปลอดภัย เรื่องการคำนึงถึงผู้บริโภคซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากอยู่แล้วเพราะลูกค้าเป็นคนรู้จัก รู้สึกเหมือนเขามากินข้าวที่บ้านแล้วเราเป็นคนทำกับข้าวให้ เราก็เปลี่ยนผักที่ใช้ จากผักไฮโดรโพนิกส์ที่เลือกเพราะตอนนั้นมีแค่นี้ มาเป็นผักอินทรีย์ที่มองว่าปลอดภัยจริงโดยมีพี่ๆ เกษตรกรที่พร้อมทำไปด้วยกัน  เราก็เข้าไปดูแลกับพวกเขาตั้งแต่วางแผนการปลูก กรรมวิธีปลูก จนถึงการให้กำลังใจกัน มองว่าตรงนี้จะสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจทั้งของเราและของเกษตรกรด้วย”

พอดีและดีพอ

เมื่อนำวิธีคิดและสิ่งที่ตกผลึกจากโครงการไปปรับใช้ ชีวิตและธุรกิจผักสลัดของมิ้มก็เติบโตงดงาม

“เราจัดการเวลางาน เริ่มละในสิ่งเล็กน้อย อันไหนที่รู้สึกว่าคนอื่นหรือน้องในทีมทำได้ดีก็ให้เขาทำ แล้วเอาแรงไปทำในสิ่งที่สำคัญกว่า ซึ่งพอเราจัดสรรเวลา ชีวิตพนักงานก็ดีขึ้นด้วย จากเมื่อก่อนที่ถ้าวันนี้ได้งานเยอะเราก็ให้น้องเยอะ แต่พอมานั่งคุยกันจริงๆ ทุกคนไม่ได้ต้องการเงินเยอะขึ้น แต่อยากมีเวลาพักผ่อนและทำงานให้เต็มที่ พอเราทำให้มันสมดุล น้องๆ ก็มีความสุข อีกทั้งในร้านเองก็ดีขึ้น เพราะถ้าเราเร่งรีบ การทำงานในนั้นก็จะบกพร่อง

“แล้วเราก็เริ่มดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย มีเวลาพักผ่อน ตอนนี้สุขภาพก็เริ่มดีขึ้น ไม่ต้องกินยาฉีดยาแล้ว แล้วก็รู้จักแบ่งรับงานเพราะบางทีการได้เงินเยอะก็ไม่ใช่ว่าจะมีความสุข พอเราเลือกที่จะคิดว่าโอเค เรามีแค่นี้แหละแต่ใช้เวลากับลูกและครอบครัวได้ ตรงนี้แหละที่เรามองว่าคือจุดสมดุลของชีวิตตอนนี้”

ขณะเดียวกัน ความงดงามนั้นก็เบ่งบานไปหาผู้คนรายรอบสมอย่างที่เธอตั้งใจ

“พอพี่ยื่นมือเข้าไปหาเกษตรกร ก็เหมือนเราจับมือกันเดิน ทำให้มีพลัง” มิ้มบอกเรา “เขาก็ตั้งใจทำส่วนของตัวเองดูแลตั้งแต่การเตรียมดิน ดูแลตั้งแต่ต้นกล้าจนถึงผักเติบโตแล้วตัดเอามาส่ง แล้วเราก็เอาไปตัดแต่งเตรียมล้างอย่างตั้งใจเหมือนกัน เรามองว่าจุดนี้เป็นการพึ่งพาช่วยเหลือกัน มีคนเคยถามเหมือนกันว่าทำร้านที่ใช้ผักเยอะ ทำไมไม่ปลูกผักเองด้วยจะได้ลดต้นทุน แต่เรากลับมองว่าอยากให้คนที่ทำอยู่แล้วหรืออยากทำจริงๆ ทำเป็นอาชีพ ถ้าทำเองทุกกระบวนการมันก็จะไม่เกิดการสานสัมพันธ์ ซึ่งเราอาจโตได้ แต่โตคนเดียวแล้วเดินไปแบบเหงาๆ  และพอทำแบบนี้กลับกลายเป็นว่าเรามีเพื่อนใหม่ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เหมือนเรา แล้วเราก็ยังคิดจะร่วมมือกันให้เด็กๆ ในกลุ่มไปเที่ยวชมสวน ไปเรียนรู้การปลูกผัก เป็นการปลูกฝังว่าการพึ่งพาตนเองเป็นยังไง ซึ่งเราเองมองว่าดีกว่าทำคนเดียว เหมือนได้มาช่วยกันคิดแล้วสิ่งที่คิดก็ส่งผลถึงคนอื่นและลูกหลานด้วย

“ส่วนเรื่องการเปลี่ยนไปใช้ผักอินทรีย์ เราก็ต้องตั้งหลักอยู่ประมาณหนึ่ง แต่พอเปลี่ยนแล้วสร้างความเข้าใจให้ลูกค้ากลายเป็นว่าเขายิ่งรักและเชื่อมั่นเรามากขึ้น เป็นเหมือนการตอกย้ำว่านี่แหละคือสิ่งที่จะต้องทำต่อไป การเลือกอาหาร เลือกแหล่งวัตถุดิบที่ปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะส่งให้ผู้บริโภค ส่วนเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น ถ้ากำไรไม่ได้น้อยจนทำให้เราแย่ลงแต่ทำให้อีกหลายครอบครัวมีกำลังใจและพร้อมทำผักปลอดภัยแบบนี้ออกมา เราก็มองว่าทำได้ แล้วถ้าสร้างความเข้าใจกับลูกค้าได้ เราคิดว่าลูกค้าก็เข้าใจเรื่องต้นทุน เราเองก็ไม่ได้โฟกัสเรื่องกำไรตรงนี้มาก เชื่อว่าทำแบบนี้จะทำให้ธุรกิจนี้ยั่งยื่นไปได้ตลอด แล้วเรายังแบ่งกำไรส่วนหนึ่งไปช่วยสังคม ไปสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษาใกล้ๆ ด้วย เพราะมองว่ามันเป็นการแบ่งปัน”

จากจุดเริ่มต้นที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจดี ตอนนี้มิ้มจึงเป็นเจ้าของแบรนด์ผักสลัดที่พอดีทั้งในความหมายเชิงชีวิตและธุรกิจ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ดีพอสำหรับเธอและทุกคน

“อาจเป็นเพราะเราสร้างแบรนด์นี้มาเองกับมือจากศูนย์ เราเลยรักมันมาก ทำงานทุกวันเหมือนกับวันที่เริ่มต้น และภูมิใจกับธุรกิจของเรา แต่เรายิ่งภูมิใจมากขึ้นที่ได้ใช้ธุรกิจตัวเองช่วยเหลือคนอื่น ตรงนี้สร้างความสุขให้เราได้จริงๆ”

“เราภูมิใจในธุรกิจของเราที่มันเติบโตไปได้ด้วยดี แต่ยิ่งภูมิใจมากขึ้น ที่ได้ใช้ธุรกิจตัวเองช่วยเหลือคนอื่นและสร้างความสุขให้เราได้จริงๆ”