
SUFFICIENCY ECONOMY
หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เชื่อว่าคนไทยทุกคน ต้องรู้จัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ของเราแน่ๆ แต่ถ้ายังมองว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ปลูกข้าวปลูกผักกินเอง ในพื้นที่เล็กๆ ใช้ชีวิตเรียบง่าย เพียงอย่างเดียว ก็ต้องขอบอกตรงนี้ว่า “ผิด!” เพราะ ความพอเพียงทางการเกษตรนั้นเป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จากการนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถที่จะนำมาสร้างสรรค์ ให้ก่อเกิด ความสุขใจ ความพอดี และ ความสมดุลในชีวิตการทำงานไม่ว่าจะทั้งการใช้ชีวิตในเมืองหรือต่างจังหวัดหลายคนอาจจะตั้งคำถามว่า ถ้าเราอยากจะทำธุรกิจแล้วจะปรับใช้ความพอเพียงได้ไหม อย่างไร สำหรับธุรกิจจะอยากที่จะสร้างความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงสามารถทำได้อย่างแน่นอน โดย “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มีแนวทางเป็น 3 หลักการ กับอีก 2 เงื่อนไข ที่เข้าใจได้ง่ายๆ นั่นคือ
- รู้จักประมาณตัวเอง คือ เราต้องรู้จักประเมินและวิเคราะห์ตัวเองก่อน อะไรคือมากเกินไปและอะไรคือน้อยเกินไปสำหรับตนเอง เปรียบได้กับการทำ SWOT ในภาคธุรกิจ
- มีเหตุมีผล ไม่ว่าธุรกิจจะทำอะไร ควรคำนึงถึงเหตุและผลของการกระทำนั้นๆ อย่าคำนึงถึงเพียงคู่แข่งและพยายามจะทำตามเพียงอย่างเดียว เปรียบได้กับการทำ Strategic Management
- มีภูมิคุ้มกัน ในที่นี้นั่นหมายถึง เราต้องป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบกับเรา ดังนั้น การเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องคิดให้รอบคอบเช่นกัน เปรียบได้กับการทำ Risk Management
นอกจาก 3 หลักการข้างต้นแล้ว หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังมีเงื่อนไขอีก 2 ประการที่ต้องใช้ควบคู่กันไป นั่นคือความรู้ และ คุณธรรม” ซึ่งในการทำธุรกิจใดๆ ความรู้ในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องศึกษา โดยการมีความรู้นับว่าเป็น ”อำนาจ” อย่างหนึ่ง และ อำนาจที่ดีก็ควรมาพร้อมกับคุณธรรมและความรับผิดชอบควบคู่ไปด้วย
ดังนั้นถ้าพิจารณากันแล้ว
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่เคยบอกให้เราละทิ้งการทำกำไรแล้วไปอยู่อย่างอดสู เพียงแค่ให้ผ่านไปแต่ละวัน แต่เป็นแนวทางที่สอนให้เรารู้จักสมดุลและสามารถที่จะสร้างความสุข โดยอาจใช้ชีวิตหรูหราได้ในบางครั้งตามอัตภาพของตนเอง แต่ไม่ใช่ทำอะไรที่เกินกำลัง เกินพอดี หรือเบียดเบียนผู้อื่น ปัจจุบัน มีธุรกิจมากมายในประเทศไทยที่เป้าหมายของพวกเขาไม่ใช่เพียงแค่ “การมุ่งหาผลกำไร” เท่านั้น แต่เป็นการดำเนินธุรกิจอย่างสร้างสรรค์ โดยการน้อมนำเอา ปรัชญาหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้ และเรื่องราวของพวกเขาก็เป็นแรงบันดาลใจและน่าสนใจมากทีเดียว ทำให้เห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรก็สามารถที่จะใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างพอเพียงได้ เมื่อพอแล้วชีวิตก็ดีเอง

VISION . AIM
วิสัยทัศน์ และ เป้าหมาย
โครงการ “พอแล้วดี The Creator” มีเป้าหมายที่จะนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาผสมผสานกับความสร้างสรรค์ (ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ภาคเกษตรกรรม) นำมาต่อยอดในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อสร้างความสุข ความพอใจ และความสมดุลให้กับทั้งการใช้ชีวิตในเมืองและต่างจังหวัดของผู้ประกอบการจากสายของธุรกิจ lifestyle business เช่น ร้านคาเฟ่ เกสท์เฮ้าส์ ร้านแฟชั่นเป็นต้น โดยบ่มเพาะนักธุรกิจที่กำลังเติบโตเหล่านี้ให้รู้จักจุดพอดีของชีวิต แล้วดีพอที่จะเอื้อเฟื้อต่อคนอื่น ซึ่งกลุ่ม The Creatorที่เข้าร่วมก็จะเป็นแบบอย่างที่เป็นบทพิสูจน์ของการดำเนินธุรกิจแบบพอเพียงให้กับผู้สนใจต่อไปเพื่อสร้างทัศนคติและวิถีการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน

MISSION
พันธกิจ
โครงการ “พอแล้วดี The Creator” มุ่งมั่นที่จะสร้างการรับรู้และแรงบันดาลใจ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติงานอย่างสร้างสรรค์ ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ “The Creator” ที่เข้าร่วมทำธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง และเป็นกลุ่มคนต้นแบบ ที่เป็นบทพิสูจน์ว่า เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่ปรัชญาที่ใช้ได้กับเฉพาะภาคเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ กับหลากหลายอุตสหกรรม เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนในอนาคต

OBJECTIVE
วัตถุประสงค์
เราต้องการสร้างสรรค์ให้ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้ถูกนำมาปรับใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพผ่านความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินธุรกิจ โครงการ “พอแล้วดี The Creator” มีวัตถุประสงค์ เพื่อ
- เพื่อค้นหาคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และเป็นประโยชน์ต่อบ้านเกิดในทั่วทุกภูมิภาค
- เพื่อสร้างต้นแบบคนรุ่นใหม่ที่พอเพียง ดำเนินชีวิตอย่างร่วมสมัย เป็น Active Lifestyle
- เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ และภาพพจน์ของคำว่า “พอเพียง” ไม่ได้ใช้กับการเกษตรเท่านั้น
- เพื่อกลับไปเป็นพลังให้ชุมชนสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มแข็ง