โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley) กับโควิด-19

โกโก้วัลเลย์ธุรกิจแห่งสมดุลของเงินและความสุข

ในขวบปีที่เราอยู่กับวิกฤติโควิด เราได้เห็นภาพความล่มสลายของการท่องเที่ยว ที่พังลงไปพร้อมการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อนของไวรัส

หลายจังหวัดท่องเที่ยวเศรษฐกิจพังทลาย โรงแรมที่พัก ร้านอาหารทยอยปิดตัว แทบปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธุรกิจท่องเที่ยว เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ยิ่งรายได้อิงอยู่กับการท่องเที่ยวมากเท่าไร ผลกระทบที่ตามมายิ่งใหญ่โตมากขึ้นเท่านั้น

โกโก้วัลเลย์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบที่กล่าวมา ธุรกิจที่มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร โรงงาน ที่นี่เป็นเสมือนหนึ่งใน จุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ ที่ต้องการมาสัมผัสสักครั้งหนึ่ง เมื่อมาเยือนเมืองน่าน

ถึงแม้ภาพรวมของธุรกิจท่องเที่ยวจะแย่ลง ขวบปีที่ผ่านมาจนกระทั่งการระบาดระลอกล่าสุด “โกโก้วัลเลย์” กลับไม่เคยลดจำนวนพนักงาน หรือแม้แต่จะลดเงินเดือนเลยสักครั้งเดียว พี่นูญ มนูญ ทนะวัง แห่งโกโก้ วัลเลย์ เล่าให้เราฟังถึงที่มาของการรับมือกับวิกฤติครั้งนี้

แต่ก่อนที่จะไปถึงการรับมือกับสถานการณ์โควิด ผมจะขอย้อนไปไกลกว่านั้นอีกสักหน่อย เพราะที่มาของการรับมือกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดจากจุดยืนที่เด่นชัดตั้งแต่แรกเริ่มของโกโก้วัลเลย์

โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)
โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)

>>> ชีวิตสุดเหวี่ยงและคำถามที่ว่าเราเกิดมาทำไม

“พี่เคยทำงานในบริษัทขุดเจาะน้ำมันอันดับต้นๆ ของอเมริกา เคยได้เงินเดือนหลักแสนตั้งแต่อายุ 25 ใช้ชีวิตสุรุ่ยสุร่ายและคิดมาตลอดว่า …เงินเป็นเป้าหมายหลัก แต่พอไปถึงจุดนั้นจริงๆ มันเบื่อ มันไม่มีความสุข จนถึงขั้นมีคำถามกับตัวเองว่า เราเกิดมาทำไม เราเกิดมาเพื่อหาเงิน ใช้เงิน จนตายหรือ จนตัดสินใจกลับบ้าน มาทำรีสอร์ทเล็กๆ ของครอบครัว ตัดสินใจปลูกโกโก้ เพราะเราไม่ดื่มกาแฟ และทานโกโก้มาตั้งแต่อยู่บนแท่นขุดเจาะกลางทะเล”

“หลังจากเริ่มทำโกโก้วัลเลย์ มีอยู่วันหนึ่งพี่เดินเข้าไปในหมู่บ้าน เป็นบ้านของคุณยาย ที่เราให้แกฝัดโกโก้แทนการใช้เครื่องจักร คุณยายร้องไห้ แล้วเดินมากอดพี่ แกบอกว่า ขอบคุณมากที่ทำให้รู้สึกว่า ยังมีประโยชน์ที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ เพราะได้เอาเงินไปให้หลาน ได้เอาเงินไปช่วยลูกซื้อกับข้าว กลายเป็นคำตอบที่เรารู้สึกว่า เราสามารถสร้างคุณค่าให้กับชีวิตในการเกิดมาด้วย และก็ทำธุรกิจที่ดีไปด้วยได้”

>>> ธุรกิจแห่งความสมดุลของจิตใจและผลกำไร

โกโก้วัลเลย์ เลือกที่จะเป็นธุรกิจอันเกื้อกูลต่อชุมชน ตั้งแต่การรับซื้อโกโก้ในราคาสูงกว่าท้องตลาด เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ร่วมงานด้วย จนถึงการลดใช้เครื่องจักรบางประเภท เพื่อสร้างงานให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ไปจนถึงความฝันที่อยากปลูกป่า เพื่อเป็นอนาคตสำหรับจังหวัดน่าน…

“เรารู้สึกว่าเราได้ช่วยคนเยอะขึ้น ด้วยประโยชน์ของโกโก้ หลายๆ สิ่งมันเอื้อต่อการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร พี่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้และรับซื้อเขาในราคาสูงสุดที่จะซื้อได้ ปกติราคาในท้องตลาดอยู่ที่ 5 – 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่เราซื้อที่ 20 บาท เพราะเราสามารถเอามาแปรรูปต่อยอด พัฒนาเพิ่มมูลค่ามันได้ เพราะฉะนั้นเราจะซอยราคาตั้งแต่หัวสุดเป็นต้นทุนสินค้าบนสุดก่อน และถึงตรงกลางอย่างที่ให้คุณยายฝัดมือแทนเครื่องจักร ต้นทุนเราเพิ่มขึ้น 30% ต่อกิโลกรัม ราคาซื้อโกโก้ที่เราเพิ่มให้เกษตรกร ทำให้ต้นทุนเราเพิ่มเป็น 300 บาท เพราะโกโก้จากผล 100% พอผ่านกระบวนการจะเหลือถึงเราเพียงแค่ 7% ของผลจากน้ำหนักที่เราซื้อ แต่ว่าเรารู้สึกว่าเราได้ทำธุรกิจในแบบที่เราได้แบ่งปัน”

หลังจากที่เราฟังพี่นูญมาได้สักพัก ความสงสัยของเราเริ่มก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเห็นแต่การเพิ่มต้นทุนในธุรกิจ มากขึ้น มากขึ้น แล้วในวิกฤติโควิดที่ระบบเศรษฐกิจกำลังพังทลายลงหล่ะ ยิ่งโกโก้วัลเลย์เป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวการเดินทาง ที่ผ่านมาโกโก้วัลเลย์กลับไม่เคยแม้แต่จะลดเงินเดือนพนักงาน  

โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)
โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)

>>> เพราะทุกคนคือครอบครัว

“เราเชื่อว่าทุกคนเป็นครอบครัว ทั้งพนักงาน ลูกค้า เกษตรกร ช่วงโควิดระลอกแรก ช่วงกุมภา มีนา ปีที่แล้ว เราใช้วิธีปิดร้านก่อนเลย โดยที่ไม่ได้คำนึงว่าธุรกิจจะเป็นอย่างไร เพราะอยากดูแลคนของเราก่อน ก็เลยต้องคิดวิธีอยู่รอดเพื่อจ่ายเงินเดือนพนักงาน พอเลี้ยงและจ้างพนักงานให้ได้เงินเต็มกันทุกคน เลยคิดวิธีที่จะขายออนไลน์ 100% “

โกโก้วัลเลย์ เป็นธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์หลายตัว ทั้งที่พัก คาเฟ่ สินค้าจากโกโก้ ซึ่งปกติต้องอาศัยนักท่องเที่ยว การรับมือกับวิกฤติโรคระบาดโดยที่ปิดหน้าร้าน จึงเป็นเหมือนการปิดประตูรายได้ไปโดยปริยาย แต่สิ่งที่พี่นูญเลือกทำ คือย้อนกลับมาดูสิ่งที่ตัวเองมี แล้วคิดเลือกว่า อะไรบ้างที่สามารถสร้างรายได้แม้จะไม่สามารถเปิดหน้าร้านให้คนเข้า โดยที่ไม่ลืมความตั้งใจของตัวเอง ต่อการช่วยเหลือคนอื่นๆ ไปด้วย

>>> ลงมือทำอย่างรู้จักตัวเอง

“เรากลับมามองว่าสินค้าเรามีอะไรบ้าง มีห้องพัก มีขนม มีเครื่องดื่ม อะไรที่ดูไปต่อได้ ก็ดึงมาพัฒนาเพื่อขายออนไลน์  เราขายออนไลน์ได้ค่อนข้างเยอะมาก และก็เริ่มหาสินค้าใหม่เพราะอยากช่วยคนอื่นด้วย ช่วงนี้ได้ใช้สามห่วงสองเงื่อนไขเต็มๆ เราหาสินค้าที่เริ่มจากเรามี แต่ไม่ได้ขายเฉพาะโกโก้อย่างเดียว เราโยงไปหาผลไม้จากในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เราเจอโรงงานปั้นถ้วยฟองดูที่ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ปั้นถ้วย ปกติส่งออกญี่ปุ่น แต่เพราะโควิดทำให้ไม่มีงาน โรงงานก็กำลังจะปิดตัวลง เราเป็นเจ้าเดียวที่ไปสั่งทำสินค้า จนโรงงานมีรายได้ให้กับตายายที่ปั้นถ้วย ในที่สุดก็ทำผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสินค้าฟองดู ที่ลูกค้าสามารถทำทานเองได้ที่บ้าน ส่งไปทั้งเนื้อ ทั้งถ้วย ระหว่างนั้นก็ทำการช่วยเหลือโรงพยาบาล ให้กำลังใจคุณหมอ เข้าไปบริจาคที่ต่างๆ เพราะเรายังมีกำลัง มีรายได้”

“โควิดรอบที่สอง ช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เราใช้ทฤษฏีเดิม เพราะเรามีประสบการณ์จากโควิดรอบแรก แต่รอบนี้จะต่างกันก็คือว่า ไม่มีการล็อคดาวน์ การขายออนไลน์ก็ได้น้อยลง เราเลยใช้เป็นคีออส เพื่อลงไปหาลูกค้าในที่ที่มีลูกค้าเยอะ ไม่ว่าจะเป็นถนนคนเดิน หรือว่าตลาดโต้รุ่ง เอาสินค้าของเราไปเจอลูกค้าท้องถิ่น โชคดีที่โควิดรอบสองหมดเร็วจึงไม่กระทบอะไรมาก”

>>> เพราะใจต้องมาก่อน

จากเดิมที่โกโก้วัลเลย์ ไม่เคยต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า หลังจากได้รับมือกับโควิดมาสองระลอก สิ่งที่พี่นูญได้เรียนรู้คือ การแก้ปัญหาความผิดพลาด สามารถลดต้นทุนได้ ทั้งปัญหาจากการแพค การส่งผิด แล้วนำทุนเหล่านั้น มาช่วยเหลือลูกค้าตามกำลังของตน เพราะสำหรับการทำธุรกิจในแบบโกโก้วัลเลย์ “ใจต้องมาก่อน”

“โควิดรอบที่สามปีนี้ เหมือนเป็นการรวมกันของสองรอบ ขายออนไลน์ไม่ได้ผลเท่าที่ควร แล้วที่จังหวัดน่านก็เกิดระบาด เราจะทำแบบที่เคยทำมาก็ไม่ได้ซะทีเดียว เราเองก็ค่อนข้างตัน เพราะรู้สึกว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เราไม่อยากเอาเงินลูกค้า เพราะสงสารทุกคนที่จะมาซื้อเรา”

จากการต่อสู้ในใจของตัวเองระหว่าง… ความสงสารคนที่จะมาซื้อ กับ ภาระหน้าที่ที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงานและธุรกิจ ความพยายามที่จะไม่ทำให้คนเรียกว่า “ครอบครัว” เดือดร้อน กลายมาเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้ปัญหาในแบบฉบับของโกโก้วัลเลย์

โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)
โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)

>>> สมดุลของเงินและใจ

“เพราะไม่อยากซ้ำเติมลูกค้าในช่วงวิกฤติ เราจึงเลือกที่จะไม่ซื้อโฆษณาออนไลน์ แล้วเก็บเงินที่จะจ่ายค่าโฆษณา มาลดราคาของให้ลูกค้าที่เต็มใจซื้อเรา อีกส่วนที่เราลดต้นทุนได้ คือเราสามารถจัดการกับระบบหลังบ้าน ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาช่วยแก้ปัญหาด้านต้นทุน ทั้งการแพคของที่ไร้ประสบการณ์ จนทำให้ต้องเปลี่ยนสินค้าให้ลูกค้าบ่อยๆ การส่งผิดที่ ออร์เดอร์ไม่ครบ ลดต้นทุนไปเยอะพอสมควร คนที่ซื้อของเราจริงๆ ตอนนี้ก็จะเป็นคนที่รักเราจริงๆ ในเมื่อเขาเต็มใจซื้อเรา เราก็จะดูราคาที่ลดลงแล้วให้เป็นการตอบแทน”  

ด้วยแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้ช่วงโควิดระลอกที่สาม โกโก้วัลเลย์สามารถลดราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ถึงประมาณ 25% จากราคาขายปกติ รวมค่าส่งฟรี ซึ่งไม่กระทบกับราคาขายปกติ นอกจากช่วยประหยัดเงินลูกค้าในช่วงวิกฤติ โกโก้วัลเลย์ ยังสามารถมีรายได้เข้ามาอย่างสมดุลเพื่อหล่อเลี้ยงพนักงานทุกชีวิตต่อไปได้อีกด้วย

>> หมู่บ้านโกโก้

ช่วงที่เกิดโรคระบาด เป็นอีกหนึ่งโอกาสดีที่พี่นูญ ได้ลงมือทำงานพัฒนา ซึ่งช่วยเติมเต็มต่อคำถามที่ว่า เราเกิดมาทำไม…

“พี่เป็นคนชอบเรียน แต่การเรียนของพี่เป็นการเรียนจากการลงมือทำ เป้าหมายจริงๆ คืออยากสร้างป่าให้จังหวัดน่าน พี่สนิทกับนายอำเภอ เขาพาไปรู้จักกับชุมชน จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพด ปัญหาคือการทำข้าวโพดจะได้เงินเยอะ ต้องขยายไปเรื่อยๆ ถึงจะได้เงิน จาก 1 เป็น 10 เป็น 100 ไร่ ป่าถูกบุกรุกไปเรื่อยๆ”

ในระหว่างวิกฤติโควิด โกโก้วัลเลย์ประสบความสำเร็จก้าวแรก กับความพยายามที่จะปลูกป่าให้จังหวัดน่าน โดยเริ่มต้นจากการปลูกสิ่งที่สำคัญที่สุด… ปลูกป่าในใจคน

“เราเข้าใจเรื่องที่ว่าเงินเป็นปัจจัยหลักในการใช้ชีวิต เราจึงเริ่มจากหมู่บ้านที่เราได้เห็นเขาพยายามใช้พื้นที่ให้คุ้มค่าที่สุด ทำให้เขาทำเกษตรด้วยพื้นที่น้อย แต่มีรายได้ตอบแทนทุกเดือน”

ไร่ข้าวโพดเป็นสาเหตุหลักของปัญหาการบุกรุกป่าในจังหวัดน่าน เพราะเป็นการเพาะปลูกที่ “ยิ่งต้องการรายได้เพิ่ม ยิ่งต้องเพิ่มพื้นที่ไร่”

วิธีแก้ปัญหาบุกรุกทำลายป่าที่โกโก้วัลเลย์ทำ ก็เพียงแค่ ลดการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพด โดยหันมาปลูกพืชที่ใช้พื้นที่จำกัด โกโก้กลายมาเป็นพืชที่ตอบโจทย์ เนื่องจากปลูกครั้งเดียว ให้ผลผลิตได้ทั้งปี เป็นเวลาหลายๆ ปี ชาวบ้านก็ไม่ต้องตัดป่าเพิ่ม เมื่อเขามีรายได้ที่เพียงพอ จากต้องทำเกษตรในพื้นที่ 100 ไร่ ก็เหลือเพียงแค่ 10 ไร่ ส่วนพื้นที่อีก 90 ไร่ ก็สามารถปล่อยให้เกิดเป็นป่าตามธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์

“ปีนี้ค่อนข้างสำเร็จมากเพราะหมู่บ้านที่อยู่ในอำเภอปัว เขาปลูกและดูแลโกโก้บนพื้นที่สูงจนสามารถให้ผลผลิตได้ เราเลยให้เขาเป็นแกนนำช่วยส่งเสริมให้เกิดการปลูกป่าบนพื้นที่สูงในหมู่บ้านอื่นๆ จากภูเขาหัวโล้น ก็จะกลายเป็นภูเขาโกโก้ ที่อยู่ร่วมกับพื้นที่ป่า”

โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)
โกโก้วัลเลย์ (Cocoa Valley)

>>> ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการสร้างอนาคต

“โควิดรอบนี้เป็นรอบที่เราทำอะไรได้ไม่มากจริงๆ มันทำให้เราเห็นว่า โมเดลของเราที่เคยมั่นใจ ของกิน ที่พัก ของส่งออนไลน์ อาจยังไม่ดีอย่างที่คิด จนกระทบกับพนักงาน เป็นครั้งแรกที่ต้องลดชั่วโมงการทำงาน และลดรายได้เหลือ 60 – 70% ขึ้นอยู่กับอายุงานและความจำเป็นในการใช้เงินของแต่ละคน ทำให้เราตระหนักว่า ต้องขยับ ปรับใหม่ ทำใหม่ทั้งหมด เพราะคิดว่าธุรกิจท่องเที่ยว ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อย่างแน่นอน”

“สิ่งที่ทำให้โกโก้วัลเลย์ยังอยู่ได้ สิ่งแรกคือ… โมเดลธุรกิจของเรา การวางรากฐานที่ดี เนื่องจากโกโก้วัลเลย์มีช่องทางเงินเข้า 6 – 7 ช่องทาง มีรีสอร์ท มีกิจกรรม มีสวน มีคาเฟ่ มีของกินของใช้ มีอาหาร มีสินค้าอื่นๆ”

“สอง… คือเรื่องแบรนด์ดิ้ง ที่ไม่ใช่การขายของเป็นธุรกิจเพื่อหาเงินอย่างเดียว แต่มันเป็นการทำธุรกิจที่เกื้อกูล แม้กระทั่งตัวเราเอง สังคม คนรอบข้างและลูกค้า”

“สาม… การที่เราใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในทุกย่างก้าว อาจดูเป็นแค่เรื่องไพเราะ แต่จริง เราจะถามตัวเองอยู่ตลอดในทุกการตัดสินใจ ว่ามันเกินตัวเราหรือเปล่า ไหวไหม เราทำเพื่ออะไร สามตัวนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้โกโก้วัลเลย์ยังอยู่ได้”

“ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจมา พนักงานของเราไม่เคยมีใครลาออก เพราะเราดูแลกันเหมือนครอบครัว นอกจากสร้างรายได้ เราต้องสร้างอนาคตให้กับทุกคนที่อยู่กับเรา การซื้อโกโก้ในราคาสูงสุดเกิดจากคำเดียว ต้องการสร้างอนาคตให้เขา พี่ต้องการจะเชื่อมโยงทุกแปลงทุกจังหวัดเข้าสู่ โมเดลการท่องเที่ยว หมู่บ้านโกโก้ เพราอยากให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากโกโก้สูงสุด โดยมีโกโก้วัลเลย์เป็นศูนย์กลางของอนาคต”

>>> รับมือกับปัญหาด้วยความสุข

ที่ผ่านมา โกโก้วัลเลย์ได้ทำสิ่งต่างๆ มากมาย ที่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อคนอื่น ตั้งแต่การรับซื้อโกโก้ในราคาที่สูงกว่าตลาด การสนับสนุนงานและคุณค่าการมีอยู่ของผู้สูงอายุ โปรเจคปลูกป่าให้จังหวัดน่าน ยังไม่นับรวมโปรเจคย่อยๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงอย่าง โปรเจคปลูกโกโก้กับโรงพักเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำรวจลดความเสี่ยงในการเกิดการทุจริต โปรเจคให้นักเรียนเข้ามาเรียนรู้ภาษาอังกฤษจากพนักงานที่มีความรู้ผ่านการทำโกโก้

สุดท้ายพี่นูญบอกกับเราว่า “ความสุขของพี่ คือการที่รู้สึกว่า… ตื่นมาแล้วเป็นประโยชน์ให้คนอื่น”

บางทีในช่วงวิกฤติ นอกจากเรื่องรายได้ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจ … ก็เห็นจะมีเจ้าตัว “ความสุข” นี่แหละ ที่คอยหล่อเลี้ยงจิตใจของคนเรา

ใครอาจจะบอกว่า “ความสุข” เป็นสิ่งซึ่งกินไม่ได้ สำหรับในช่วงวิกฤติแบบนี้ ความสุข… อาจเป็นสิ่งน้อยนิด ที่คอยเติมเต็มให้คนเรา ตื่นขึ้นมาในทุกเช้า… และมีแรงสู้ต่อไปก็เป็นได้

พอแล้วดี The Creator : มนูญ ทนะวัง (นูญ)
ธุรกิจ : โกโก้ วัลเลย์ (Cocoa Valley) อำเภอปัว จังหวัดน่าน