คุณจิระ ชนะบริบูรณ์ชัย

อยากให้แฟชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม

คงจะเป็นเรื่องที่ดี หากผู้พิการทางสายตาสามารถสนุกกับการแต่งตัวได้ในทุกวัน ด้วยเหตุนี้เอง จุ้ยจึงได้ริเริ่มนวัตกรรมเพื่อให้ผู้พิการทางการมองเห็นสามารถเลือกสีเสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง โดยใช้เทคนิคการสกรีนตัวอักษรเบรลล์แบบพิเศษของ .ONCE ในการช่วยสร้างความสุขและสีสันให้กับชีวิตของผู้พิการทางสายตา โดยผลิตภัณฑ์ของ .ONCE ที่จำหน่ายไปในแต่ละชิ้น จะนำรายได้บางส่วนไปสร้างโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพผู้พิการทางสายตาของ .ONCE อย่างยั่งยืน เพราะความสุขของคุณจุ้ยคือการแบ่งปัน และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม

ชื่อ : จิระ ชนะบริบูรณ์ชัย (จุ้ย)

ธุรกิจ : .ONCE

จังหวัด : กรุงเทพมหานคร

 นวัตกรรมทางแฟชั่นเพื่อการแบ่งปัน

การเติบโตมาในครอบครัวที่คุณลุงและคุณป้าเป็นผู้พิการทางสายตา เป็นแรงผลักดันให้จุ้ยสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตาดีขึ้น ผ่านทางแฟชั่นซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสนใจและถนัด ผนวกกับความรู้ด้านธุรกิจที่ได้เรียนมา จนเกิดเป็นแนวความคิดของ .ONCE ธุรกิจแฟชั่นเพื่อการแบ่งปันกับผู้พิการทางสายตา โดยการนำอักษรเบรลล์มาผสมผสานกับการออกแบบเสื้อผ้า ด้วยเทคนิคการสกรีนที่ทำให้อักษรเบรลล์นูนขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถเลือกสีและไซส์เสื้อผ้าได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความสุขและสีสันให้กับชีวิตของผู้พิการทางสายตา

 “ให้ด้วยกัน” ปันน้ำใจสู่ผู้พิการทางสายตา

โครงการแรกที่ .ONCE ทำเพื่อผู้พิการทางสายตา ในทุกการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ .ONCE เท่ากับการได้ให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นแก่ผู้พิการทางสายตา ผ่านโครงการ “ให้ด้วยกัน” ซึ่งมีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแบ่งปันความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับผู้พิการทางสายตา เพราะความสุขที่มากกว่าเงินที่ได้ คือการได้เห็นรอยยิ้มของผู้พิการทางสายตา และการสร้างเรื่องราวดี ๆ ให้เกิดขึ้นร่วมกัน โดยผู้สนับสนุนทุกคนจะได้รับเชิญมาร่วมกันในโครงการนี้ ซึ่ง .ONCE อยากให้ทุก ๆ คนที่มีส่วนร่วมในการแบ่งปันได้เห็นถึงวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ที่เรายังต้องร่วมกันพัฒนาให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

 สร้างความเท่าเทียมและโอกาสของผู้พิการทางสายตาในสังคม

ในปัจจุบันผู้พิการทางสายตายังขาดโอกาสทางสังคมในหลาย ๆ ด้าน .ONCE จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการมอบโอกาสทางสังคมกับพวกเขาเหล่านี้ โดยการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ และสอดแทรกความรู้สึกของผู้พิการทางสายตาให้คนทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจมากขึ้น ผ่านการออกแบบในคอเลกชั่นต่าง ๆ อีกทั้งช่วยสร้างอาชีพจากการให้ผู้พิการทางสายตาได้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของ .ONCE เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการประกอบธุรกิจและสามารถนำไปต่อยอดได้อย่างยั่งยืน โดยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สักวันผู้พิการเหล่านี้จะได้รับความเท่าเทียมและได้รับโอกาสเช่นคนปกติในสังคม

 คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พึงระลึกอยู่เสมอ

ปัจจุบัน .ONCE ได้เริ่มดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise ที่มุ่งหวังจะพัฒนาผู้พิการอย่างยั่งยืนตามคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นพื้นฐานในการสร้างธุรกิจและพัฒนาผู้พิการอย่างยั่งยืน คือการทำให้ธุรกิจอยู่ได้และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพให้ผู้พิการสามารถอยู่ได้ในสังคม ซึ่งเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน

เมื่อ .ONCE มีความมั่นคงในระดับหนึ่งแล้วก็จะต่อยอด โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้าในการหยิบยกเรื่องราวที่เป็นความรู้ที่จะทำให้คนในสังคมได้เข้าใจถึงศักยภาพ เพื่อการนำไปสู่การยอมรับและเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้พิการในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะตีความเป็นรูปภาพที่สื่อง่าย ภาพลายกราฟิกที่เป็นเอกลักษณ์ของ .ONCE เพื่อสร้างมูลค่าและต่อยอดคุณค่าของผู้พิการสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน

การทำธุรกิจของ .ONCE เรารู้จักคำว่าพอ และต่อยอดสู่การแบ่งปัน มันอาจไม่ใช่เป้าหมายที่กำไรสูงที่สุด แต่เราอยู่ได้และสร้างความสุขให้กับคนผู้พิการทางสายตาได้ … แค่นี้ก็พอแล้ว

 สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะ พอแล้วดี The Creator รุ่น 2

การทำธุรกิจต้องรู้จักคำว่า “พอเพียง” ซึ่งจะนำพาไปสู่การแบ่งปัน แล้วคุณจะได้ความสุขที่แท้จริงที่วัดมูลค่าไม่ได้