คุณชญาน์วัต สว่างแจ้ง

“ ‘บุญ’ คือเหตุที่ทำไว้ในนาทีที่แล้ว และจะส่งผลในนาทีถัดไป หากเราสร้างเหตุที่ดี ผลที่ดีก็จะตามมา”

วัต-ชญาน์วัต สว่างแจ้ง เจ้าของฟาร์มแพะนม บุญบูรณ์ฟาร์ม จากจังหวัดลำปาง บอกเล่าถึงที่มาของคำว่าบุญที่ ‘สมบูรณ์’ อยู่ในฟาร์มแห่งนี้ เพราะอดีตสถาปนิกหนุ่มที่หนีเมืองมาก่อร่างสร้างฟาร์มปศุสัตว์และหวังสร้างสมดุลให้ชีวิตเชื่ออย่างหนักแน่นว่า หากเขาสร้างเหตุปัจจัยที่ดี ชีวิตของเขา ฟาร์มเล็กๆ ที่เลี้ยงดูแพะอย่างดีตามศาสตร์พระราชา ธุรกิจผลิตภัณฑ์นมที่ปลุกปั้น และชุมชนรอบข้าง จะเติบโตร่วมกันไปได้อย่างยั่งยืน

ทว่าการสร้างบุญเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ว่าไม่ใช่เพียงการสักแต่ว่าลงมือทำ หลังจากลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ เจ้าของฟาร์มคนนี้พบว่าเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนล้วนถูกอธิบายไว้ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หลักการที่ทำให้เขาใช้เหตุและผลเป็น เห็นตัวเองชัด และรู้จักสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อผลที่ยั่งยืน

บุญที่มากพอจะส่งผลให้เกิดผลที่ดี อยู่ในบรรทัดถัดจากนี้แล้ว

จากชีวิตที่สมดุล สู่แนวคิดที่อยากให้ชุมชนสมบูรณ์

อีกสถาปนิกหนุ่มในเมืองที่อิ่มตัวทางอาชีพหลังมีปัญหาสุขภาพจากการทำงานหนัก วัตจึงตั้งโจทย์ให้อนาคตมองหาวิธีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่สามารถดูแลพ่อแม่ที่อายุมากขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการทำงาน มีความมั่นคงทางอาหาร และความเป็นอยู่ที่มีสุขภาวะที่ดี ซึ่งคำตอบที่วัตเลือก คือวิถีเกษตรที่เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตสมดุลขึ้น

“ในภาคเกษตรไม่ได้มีแค่ข้าวหรือผัก และเรามองว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารมีคนทำมากแล้ว ในขณะที่ภาคปศุสัตว์กับภาคประมงยังมีน้อย คิดว่าตรงนี้เป็นช่องทางที่ทำให้เราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องไปแข่งขันกับคนอื่นๆ มากนัก เราก็เลือกที่จะทำปศุสัตว์คือการเลี้ยงแพะ”

หลังปักหมุดเริ่มต้นที่จังหวัดลำปาง วัตนับหนึ่งจากการเลี้ยงไก่เพื่อกินไข่ แต่การขายไข่ในท้องถิ่นที่ทุกบ้านเลี้ยงไก่เองไม่ใช่สิ่งที่คุ้มค่า เขาจึงเริ่มมองหาว่าชุมชนรอบๆ ต้องการอะไร และพบว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่แพ้นมวัวและผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการขาดที่ส่งผลให้ซูบผอมและไม่มีแรง เขาจึงตั้งเป้าที่ผลิตโปรตีนและแคลเซียมทางเลือกให้ชุมชน และแพะก็คือคำตอบที่เข้ามา

“นมเป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยมีคนทำในเมืองไทย ถึงการกินนมจะไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมมาตั้งแต่แรก แต่ปฏิเสธไม่ได้ในยุคนี้ว่านมคือแหล่งสารอาหารที่สำคัญ และมันควรต้องเป็นผลิตผลจากสัตว์ที่ดูแลง่ายอย่างแพะ เพราะผมมองต่อไปว่า หากส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยง เขาสามารถเริ่มต้นลงทุนด้วยการใช้วัสดุท้องถิ่นทำโรงเรือนได้ การดูแลก็ง่าย สามารถใช้ผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้หญิง ซึ่งอยู่ในชุมชนจริงๆ ให้ดูแลได้ เพราะแรงงานผู้ชายส่วนใหญ่จะออกไปทำงานนอกบ้านหมด เราพิสูจน์แล้วจากครอบครัวเรา ผมให้พ่อแม่ช่วยดูแลฟาร์ม ชวนเด็กๆ ในชุมชนให้มาช่วยดูแลแพะ แทนที่เขาจะออกไปเล่นข้างนอก ก็มาเล่นกับแพะเรา เป็นโมเดลที่ทำได้ในระดับชุมชน ถ้าต้องลงทุนซื้อวัว 1 ตัว เงินจำนวนนั้นสามารถซื้อแพะได้ 10 ตัว ถ้าเกิดเรากระจายแพะ 10 ตัวไปสัก 3-4 บ้านก็จะเกิดการทำงานเป็นเครือข่าย และเป็นอาชีพของคนในชุมชนจริงๆ”

เกษตรกรหนุ่มขายไอเดียและโมเดลที่ออกแบบไว้ เปลี่ยนแนวคิดจากการเป็นเจ้าของคนเดียวสู่การมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้และถอดรหัสจากการลงพื้นที่กับสถาบันอาศรมศิลป์ที่ทำงานเรื่องชุมชนและสิ่งแวดล้อม “ผมกำลังทลายกรอบของวิชาชีพออกไป เพื่อเอาหลักการนี้ไปใช้กับการทำเกษตร การทำอาหารการแปรรูปผลิตภัณฑ์ แม้แต่วิธีการจัดจำหน่าย โปรดักส์ของเราเป็นนมที่ไม่เห็นความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมการกินของคนไทยเลย แต่เมื่อเรามองว่ามันคือโปรตีนทางเลือก เราก็ต้องทำให้คนยอมรับและสามารถเอามาปรุงในเมนูพื้นบ้านได้ เราเอานมมาแปรรูปเป็นชีสเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ คิดว่าถ้าชาวบ้านทำเต้าหู้เป็นก็ต้องแปรรูปชีสได้ และลองเอาไปอยู่ในเมนูอาหารท้องถิ่น เอาไปนาบกระทะย่าง เอาไปทำลาบ เอาไปอยู่ในน้ำพริก คนท้องถิ่นก็สามารถกินได้อย่างเอร็ดอร่อยเพราะรู้สึกว่ามันไม่ได้ห่างไกลจากสิ่งที่เขาเป็น”

มากไปกว่านั้น วัตเห็นช่องว่างของปศุสัตว์ที่ผู้บริโภคไม่เคยได้พบกับผู้ผลิต แต่มักจะพบกันผ่านพ่อค้าคนกลางในตู้แช่ที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หากเขาสามารถย่นระยะระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคมาเจอกัน สะท้อนความต้องการและนำไปพัฒนาได้โดยตรง เขาก็ไม่ต้องไปแข่งขันกับการผลิตแบบอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ และสามารถส่งมอบอาหารดี วัตถุดิบปลอดภัยให้กับคนเมืองที่ต้องการความเชื่อมั่นและความจริงใจระหว่างกันมากกว่ายี่ห้อดังและตรามาตรฐานที่ต้องอาศัยระบบการจัดการหลักล้านเพื่อให้ได้มา

เห็นตัวเองชัด ใช้เหตุผลเป็น และรู้จักสร้างภูมิคุ้มกัน

แม้ทุกอย่างจะดูดี มีวิธีคิดและเหตุผลรองรับ แต่วัตก็ยอมรับว่ายังมีอีกหลายอย่างที่เขายังขาด โดยเฉพาะการทำบุญบูรณ์ให้เติบโตไปในฐานะธุรกิจ

“เรารู้กระบวนการทั้งหมดแต่ไม่สามารถเด็ดมันออกมาพูดในเชิงธุรกิจได้ ทั้งการสื่อสารให้ชุมชนเข้าใจและการสื่อสารกับผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์หรือแม้กระทั่งในแพคเกจจิ้งของเรา ผมมองว่าเรื่องของเรามีคุณค่าทางสังคมนะ แต่เราไม่เคยพูดถึงเรื่องนี้ลงไปในการสื่อสารเลย เราขายเหมือนนมปกติทั่วไป ซึ่งมันทำให้ธุรกิจไปได้แค่ระดับของการเริ่มต้น ถ้ามองในระดับก้าวหน้า เรายังไปไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าแบรนด์คืออะไร สิ่งที่เราทำทั้งเรื่องชุมชนและส่ิงแวดล้อมจะอยู่ในแบรนด์ได้อย่างไร”

หลังจากบอกเล่าสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่กำลังจะทำ สิ่งที่อยากจะทำ คำว่า ‘แพะมีบุญ’ ก็กลายเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้วัตได้รู้จักตัวเองในฐานะห่วงแรกแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

“มันคือคำสำคัญที่ทำให้เราต่างจากนมแพะเจ้าอื่นๆ บุญเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มฟาร์ม เราดูแลแพะของเราโดยใช้ศาสตร์พระราชา จัดการกายภาพของฟาร์มที่ดีทั้งกับสัตว์ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม วิธีการดูแลแพะของเราใช้หลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ คือแค่หลักนี้หลักเดียวสัตว์ก็อยู่ได้อย่างมีบุญแล้วครับ คืออยู่เหมือนคนในครอบครัวเรา เราเข้าใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องจักรที่ผลิตผลผลิตออกมาให้เรา ซึ่งพอได้คำนี้ขึ้นมา กิจกรรมที่เราอยากทำให้เกิดมีขึ้นมันก็ชัดเจนขึ้นมากว่าเราจะส่งต่อบุญที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร ทั้งเกษตรกรที่จะมาร่วมกับเรา ทั้งผู้บริโภคที่ได้วัตถุดิบที่ปลอดภัย ทั้งสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนขึ้น” วัตบอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขา ‘เลิก’ รอถึงวันที่ตัวเองพร้อมลงสนามจริง

“ก่อนหน้านี้ผมชอบพูดเสมอว่าผมยังไม่พร้อม แต่จริงๆ แล้วมันไม่ต้องรอให้พร้อม เพราะคำว่าพร้อมมันไม่มีในโลกอยู่แล้ว มันอาจจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน สื่อสารออกไปให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ทำไมเราไม่สร้างการมีส่วนร่วมตรงนี้ให้เกิดขึ้นทันที”

วัตเริ่มต้นสื่อสารกับชุมชนอย่างจริงจังเพื่อหาแนวร่วมตามโมเดลที่เคยวาดไว้ผ่านการพัฒนาฟาร์มให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ในฐานะพื้นที่เปิดให้คนในชุมชนเห็นกิจกรรมภายใน และเห็นความเป็นไปได้ของการร่วมไม้ร่วมมือ นอกจากการหาคนมาช่วยเลี้ยงแพะและแปรรูปผลิตภัณฑ์ วัตยังมองความเชื่อมโยงออกไปในการใช้พื้นที่ว่างระหว่างรอทำนาเพื่อปลูกพืชไว้เลี้ยงสัตว์ ที่ลดทั้งปัญหาหมอกควันจากการเผาวัชพืชก่อนเริ่มนา และเพิ่มแรงจูงใจด้วยรายได้ที่งอกเงย อีกทั้งยังช่วยลดค่าขนส่งอาหารสัตว์ที่เขาต้องรับจากนอกพื้นที่

และในฟากฝั่งของการสื่อสารกับผู้บริโภค เขาเริ่มมองว่านมหนึ่งขวดที่มอบให้จะย้อนกลับไปหรือส่งผลดีให้ใครอีกบ้างได้บุญ จึงเริ่มโครงการเพื่อให้การเป็นบุญบูรณ์ชัดเจนขึ้น โดยให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ ได้ส่งมอบนมไปให้กับเด็กที่เป็นภูมิแพ้ในศูนย์เด็กเล็กของชุมชน ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เพราะข้อมูลจากงานวิจัยว่านมแพะมีคุณลักษณะที่ดีที่จะทำให้เด็กที่เป็นภูมิแพ้มีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้น

“เราสร้างแพคเกจขึ้นมาให้คนซื้อนมบุญบูรณ์ว่า ทุกๆ 4 ขวดที่คุณซื้อ เราจะมอบนมหนึ่งขวดให้กับเด็กๆ ที่เป็นภูมิแพ้ในชุมชน ซึ่งทำให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเขาได้ทำบุญไปด้วย และได้รู้ว่านมแพะมีประโยชน์ในเรื่องของการบรรเทาอาการภูมิแพ้ด้วย”

หนุ่มเจ้าของฟาร์มเล่าถึงสิ่งที่คลี่คลายและต่อยอดออกไปหลังการได้รู้จักตัวเอง หากให้อธิบายตามหลักที่ได้เรียนรู้ เขาพบว่าที่ผ่านมาเขาดำเนินทุกอย่างมาด้วยเหตุและผล แต่เมื่อไม่รู้จักตัวเองก็ไม่สามารถไปต่อได้ จนกระทั่งรู้ว่าตัวเองเป็นใคร ประมาณตนว่ามีศักยภาพในการทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ภูมิคุ้มกันที่จะทำให้เขาเดินต่อไปอย่างยั่งยืนก็ชัดเจนขึ้นตามมา

“จากนี้ หากบุญบูรณ์เกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ผมเชื่อว่าคนที่ได้อานิสงส์จากเราเขาจะมีส่วนร่วมในการประคับประคองให้เราไปต่อได้ ผมมองว่าสิ่งนี้คือความยั่งยืนที่แข็งแรงกว่าทำด้วยตัวคนเดียวแล้วทิ้งคนอื่นไว้ข้างหลัง”

ผลบุญที่สมบูรณ์

จากจุดเริ่มต้นที่เพียงอยากแก้ปัญหาชีวิตตัวเอง มีอาชีพ และสามารถดูแลพ่อแม่ได้ การมองเห็นความเชื่อมโยงที่จะพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนไปด้วยกัน คือสิ่งที่เจ้าของฟาร์มคนนี้มองว่า “ไม่ได้เหนื่อยเพิ่มอะไร”

“เรามองว่าสิ่งที่เราทำเราไม่ต้องคิดอะไรเพิ่มเลยนะ เราไม่ต้องเหนื่อยเพิ่มเลย แต่ได้ประโยชน์มากขึ้น เหมือนเราได้ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน อยู่ที่เราใช้วิธีการสื่อสารให้มากขึ้น ให้คนอื่นเข้าใจว่าเราทำอะไรอยู่ ถ้าจะมีสัก 10% ที่เห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันดี อยากทำแบบเดียวกับเรา อยากร่วมกับเรา เราก็จะประคับประคองคนเหล่านี้ให้โตไปด้วยกัน หรือเขาอาจจะไม่ทำตาม แต่เอาไปสื่อสารต่อ มันอาจจะเจอคนที่สนใจและอยากทำ ผมมองว่าวิธีนี้ทำให้เราไม่ต้องเหนื่อยการทำงานเพื่อสังคม เพราะตัวเราเองก็ได้ประโยชน์ด้วย”

แล้วก็เป็นอย่างที่คิด หลังสื่อสารสิ่งที่ทำออกไปอย่างชัดเจน หลายหน่วยงาน หลากองค์กรก็เริ่มให้ความสนใจและอยากส่งต่อแนวคิดนี้ออกไปให้กว้างขวางขึ้น

“มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และราชมงคลลำปางเนี่ย ได้ยินสิ่งที่เราคิด เขาก็อยากให้เราเผยแพร่แนวความคิดนี้ออกไปให้เด็กๆ  ให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำปศุสัตว์อยู่แล้ว หรือทำเรื่องพืชอาหารสัตว์มาคุยกับเรา มีคนเข้ามาหาเราเยอะมาก มาวางแผนการทำงานร่วมกัน ท มีโครงการที่สอดคล้องกับสิ่งที่เราคิด สามารถต่อยอดเป็นงานวิจัยที่จะทำร่วมกันกับเกษตรกรในพื้นที่ มันเป็นจุดที่ทำให้เราเห็นภาพว่ามันเติบโตและเป็นทิศทางที่พาเราไปสู่เป้าหมายของความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกร”

อนาคต วัตอยากเห็นเด็กรุ่นใหม่อยู่ในพื้นที่ ร่วมกันสร้างสังคมที่อบอุ่นในบ้านเกิดที่ต่างไปจากสังคมชนบทยุคนี้ที่ทุกคนต้องแยกย้ายกันไปทำมาหากิน หากเด็กรุ่นใหม่เห็นโอกาสและลงมือทำ นั่นก็ไม่ใช่ฝันที่ยากจะเกิดขึ้นจริง

“ธุรกิจที่พอแล้วดีต้องเกิดจากการรู้จักตัวเอง มีความรู้ทางด้านนั้นเพียงพอที่จะทำให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน โดยไม่ยี่หระต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ในทุกวัน และสามารถที่จะส่งผลดีต่อคนรอบข้างและสังคมได้”