แทบทุกธุรกิจ เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยความหวัง
แต่สำหรับบ้านหมากม่วงของแนน-วราภรณ์ มงคลแพทย์ ลูกสาวเจ้าของสวนมะม่วงแห่งเมืองปากช่อง เธอบอกกับเราว่า บ้านหมากม่วง เริ่มต้นจากความหมดหวัง
“วันที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย เรามีทุกอย่างได้ด้วยอาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ แต่วันที่เราจะกลับมาทำงาน เรากลับเห็นความหมดหวังในท้องถิ่น เกษตรกรบ้านเราเริ่มทยอยขายที่ทางตรงเขาใหญ่ที่ได้ราคาดี เพราะทำมาหากินไม่ได้ แม้แต่พ่อเราเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่เคยคิดแบบนั้น ทั้งที่เขารักในอาชีพนี้มาก เพราะเกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่มีหวัง เราไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ไม่ได้มีตลาดรองรับมากมาย ไม่ได้มีความรู้เรื่องธุรกิจมาต่อยอด ลูกหลานก็ไม่ได้มีโอกาสกลับไปสานต่อ เพราะทุกคนก็มีฝันของตัวเอง”
แต่บนความหมดหวัง ลูกสาวเกษตรกรคนนี้เชื่อว่าเธอสามารถคืน ‘ความหวัง’ ให้ผืนดินปากช่องได้ หลังปลุกปั้นแบรนด์บ้านหมากม่วง จำหน่ายสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปจากสวนของชุมชน และใช้เวลาพักใหญ่ลองผิดลองถูกในโลกธุรกิจที่ไม่ถนัดมือ ล่าสุด หญิงสาวพบ เส้นทางที่จะนำพาธุรกิจของเธอจากโครงการ ‘พอแล้วดี The Creator’ มาตอบสิ่งที่เธอขาดและเกิน แล้วยังทำให้เธอค้นเจอคุณค่าที่จะทำให้ผืนดินนี้กลับมาเป็นความหวังได้อีกครั้ง
ความหวัง ที่อยู่ในทุกบรรทัดถัดจากนี้,

เริ่มต้นด้วยตั้งใจ แต่ยังไปไม่ถึง
“เราอยากเห็นการเกษตรของที่บ้านได้รับการพัฒนา เราเห็นที่ใกล้ๆ บ้านเราอย่างฟาร์มโชคชัยหรือไร่กำนันจุล รวมถึงตัวอย่างของเมืองนอกแล้วรู้สึกว่าเกษตรกรรมมีหนทางพัฒนาสร้างมูลค่า ไม่ใช่แค่ขายผลผลิตอย่างเดียวอีกต่อไป การขายมะม่วงและผลผลิตเกษตรอื่นๆ เราสู้กับกลไกตลาดแต่หลงลืมเรื่องคุณภาพที่เราสร้างได้ เราเลยไปเรียนด้านทรัพยากรการเกษตร ตั้งใจว่าจะกลับมาทำอะไรสักอย่าง” แนนย้อนเล่าเมื่อเราถามหาเหตุผลที่หญิงสาวตัวเล็กๆ หนึ่งคนอยากกลับมาทำอาชีพที่เธอเรียกว่า ‘ลูกสาวเกษตรกร’
“ที่จริงเราต้องสู้กับที่บ้านเหมือนกัน เพราะเขาไม่อยากให้เรากลับมาลำบาก แต่เรารู้สึกว่า นี่คืออาชีพที่เลี้ยงเรามาจนโตได้อย่างทุกวันนี้ และยังเป็นความภูมิใจของพ่อแม่ เป็นภูมิปัญญาที่เขาทำมาตลอดชีวิต ถ้ามันล่มสลายไปต่อหน้าต่อตาโดยที่เราไม่ได้กลับมาทำอะไรทั้งที่พอจะทำได้ เราก็คงทนไม่ได้ เลยเลือกเส้นทางนี้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายที่สุดแล้ว”
เมื่อเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะม่วงและสร้างร้านบ้านหมากม่วงขึ้นมา โดยตั้งใจให้เป็นช่องทางเพื่อจำหน่ายสินค้าทั้งจากสวนของเธอและชุมชน แต่สิ่งที่พบคือทุกอย่างไม่ง่ายดาย หนึ่งในปัญหาหลักคือแม้มีพลังเต็มร้อย แต่การทำงานยังขาดหลายองค์ประกอบที่จะช่วยให้ภาพในฝันสำเร็จเป็นความจริง เธอยอมรับว่ามัวแต่วิ่งวุ่นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการแปรรูป และการขายของหน้าร้านจนหมดไปเป็นวันๆ ขณะที่ก้อนความฝันที่อยากจะพัฒนาบ้านเกิดยังเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้จริง

มองตัวเองให้ชัด เหลาเป้าหมายให้คม
“เราหวังไว้เยอะมากว่าจะทำโน่นทำนี่ จะทำให้ธุรกิจที่บ้านต่อยอดไปได้ จะช่วยชุมชนด้วย ฟุ้งไปหมด แต่มันไม่ออกมาเป็นวิธีการว่าจะทำยังไงได้บ้าง มีแต่ความคิดกับความตั้งใจอยู่อย่างนั้น พอมาเข้าโครงการก็เลยรู้ว่าความตั้งใจดีอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมาพร้อมกับหลักคิดและวิธีการที่รอบคอบเพื่อให้สิ่งที่ทำดีพอที่จะไปสู่เป้าหมายขนาดนั้นได้”
ทุกบทเรียนที่ได้เรียนรู้ในการทำธุรกิจ ทำให้แนนชัดเจนขึ้นว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองขาด และอะไรที่มีอยู่จนล้นเกิน ทุกบทเรียน ทุกคำถาม และทุกแบบฝึกหัด กลายเป็นคำตอบที่จับต้องได้ แตกออกมาจากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เธอยอมรับว่าก่อนหน้านี้ ไม่เคยคิดว่าจะมาเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไร
“ในหลักการสามห่วงสองเงื่อนไข สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับเราคือห่วงแรก-การรู้จักตัวเอง เราต้องกลับมาทบทวนแพสชันตัวเองว่า จะทำไปทำไม เพื่ออะไร แล้วจะทำมันได้จริงเหรอ ทำได้ด้วยวิธีการไหน ตรงนั้นยากที่สุดเพราะเหมือนเป็นกระดุมเม็ดแรก ติดผิดก็ผิดทั้งหมด เราอยู่กับตัวเองทุกวันจนชิน ไม่รู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร ก็คุยกับตัวเองอยู่พักใหญ่กว่าจะตกผลึกทางความคิดกับธุรกิจและชีวิตได้
“การรู้จักตนเองก็ช่วยให้เราได้เจอบางอย่างที่ไม่เคยคิดถึงอย่างลึกซึ้ง นั่นคือเรื่องของทรัพย์ในดิน สินในน้ำ หรือผืนดินและการทำเกษตรกรรมของปากช่องซึ่งเป็นสิ่งมีคุณค่าที่เรามีในมือ เวลาพูดถึงปากช่อง เขาใหญ่ ทุกคนจะนึกถึงเมืองท่องเที่ยว แต่สำหรับเรา สำหรับคนพื้นที่ซึ่งใช้ผืนดินนั้นทำมาหากินจริงๆ มันคือผืนดินเกษตรกรรม เป็นแหล่งปลูกดีที่สุดแหล่งหนึ่งของประเทศ แล้วก็เป็นที่ที่ธรรมชาติเกื้อกูลกับชุมชน ทำให้เกิดชีวิต เกิดอาชีพ ทำให้แผ่นดินตรงนั้นดำรงอยู่ได้ Brand Promise ของเราจึงคือ ‘การส่งมอบคุณค่าผืนดินปากช่อง’ ซึ่งมันทำให้เราลึกซึ้งกับสิ่งที่ทำมากขึ้น”

วางแผนธุรกิจอย่างมีเหตุมีผล ตั้งใจดีอย่างมีภูมิคุ้มกัน
“ที่จริงเราก็พอรู้จุดที่ตัวเองขาด แต่ไม่ได้คิดว่าจะขาดขนาดนี้” หญิงสาวเอ่ยปนหัวเราะ “เราก็ขับเคลื่อนธุรกิจมาประมาณหนึ่ง แต่เราคิดทุกอย่างรวมๆ ไม่ได้ทำการตลาดและวางแผนอะไรกับมัน เป็นการขายของและทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ จนเมื่อเรามานั่งคิดจริงๆ ว่าใครคือลูกค้าของเรา แล้วเราจะออกแบบสินค้าให้เหมาะกับเขาได้ยังไง ต้องมาวางแผนเขียนกลยุทธ์ว่าจะทำยังไงให้เราอยู่และดำเนินธุรกิจได้ ช่วยให้เรามีภูมิคุ้มกันเรื่องพวกนี้มากขึ้น

“และพอเราเจอจุดโฟกัส เราก็รู้สึกว่าตัวเองคือความหวังที่จะช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีชีวิตอยู่ดีมีสุขกว่าเดิมเพื่อรักษาอาชีพและผืนดินปากช่องไว้ เมื่อก่อนเราคิดแต่ว่า เดี๋ยวจะเอาของชุมชนมาขายแล้วก็เอาตัวเองไปช่วยชาวบ้าน แต่ที่จริงกิจการของเราที่กำลังจะขยายทำอะไรได้มากกว่านั้น มีเรื่องการร่วมสร้างสรรค์กับฟาร์มต่างๆ เอาของตกเกรด ไม่มีมูลค่ามาช่วยกันพัฒนาแล้วเอามาวางจำหน่ายที่ร้านเรา รวมถึงอาจทำเป็นเวทีให้เกษตรกรในพื้นที่ได้นำเสนอแบรนด์ตัวเองไปเลย ที่จริงเราก็มีข้อจำกัดด้านความรู้ ด้านกำลัง แต่ก็พยายามทำให้มันดีที่สุดเท่าที่วันนี้จะทำได้ เรามีสายป่านมากกว่าคนในชุมชน มีความสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล มีเครื่องมือ มีทุนแบบที่คนในชุมชนหลายคนยังไม่มี เราก็เอาตรงนี้มาช่วยเหลือครอบครัวและชุมชน”

พอสำหรับเรา ดีสำหรับทุกคน
ล่าสุด แนนตั้งใจยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้ของคุณภาพพร้อมแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดไม่ให้สูญเปล่า พร้อมขยับขยายกิจการสู่สิ่งที่มีพลังมากขึ้นในทุกวัน จากร้านขายของ เธอเตรียมขยับไปแตะเรื่องการท่องเที่ยวผ่านการทำ Farm Visit และการขายเวิร์กช็อปให้ลูกค้าได้มาสัมผัสประสบการณ์ ซึ่งหมายถึงการขายสิ่งที่มากกว่าของกิน และส่งต่อคุณค่าของผืนดินปากช่องในรูปแบบที่กว้างออกไป

“เรากำลังศึกษาเรื่องความเฉพาะถิ่นของดิน น้ำ และอากาศที่ปากช่องว่ามันกระทบต่อรสชาติผลผลิตที่สร้างได้ยังไงบ้าง หลักการเหมือนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ Geographical Indications (GI) หรือความเฉพาะถิ่นที่ทำให้สินค้าเกษตรมีความเฉพาะตัวหรือต่างจากพื้นที่อื่น” หญิงสาวอธิบาย “เราเชื่อว่าถ้าเข้าใจแล้วนำมันออกมาถ่ายทอดให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงคุณค่าได้ จะทำให้มูลค่ากับพื้นที่ กับผลผลิตตรงนั้น แล้วตอนนี้เราก็มีเพื่อนๆ เจ้าของธุรกิจในเขาใหญ่มาช่วยกันทำวิชาทรัพยากรท้องถิ่นปากช่องเพื่อไปสอนเด็กในพื้นที่ เราคิดว่าการมาทำเรื่องพวกนี้จะส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง ให้เขารู้คุณค่าของสิ่งที่มี ตระหนักถึงคุณค่า และอยากรักษาไว้”

ทั้งหมดนี้คือเส้นทางที่หญิงสาวตัวเล็กๆ และธุรกิจของเธอกำลังมุ่งมั่นเดินไป โดยมีเข็มทิศที่สลักคำว่า ‘พอแล้วดี’ อยู่ในมือ
“คำว่า พอแล้วดี คือพอเหมาะกับตัวเองแล้วก็ดีต่อเราและสิ่งที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นทุกคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนี้ทำให้เราเจอทางสายกลาง เพราะไม่ใช่ว่าเราจะได้ทำทุกอย่างที่ชอบ การทำสินค้าแปรรูปหรือการทำธุรกิจก็มีรายละเอียดที่เราไม่ได้ถนัด แต่เราเจอสิ่งที่ทำให้การตื่นไปใช้ชีวิตทุกวันมีความหมาย เรารู้สึกว่าตรงนั้นคือคำว่าพอ แล้วมันก็ดีสำหรับเราในวันนี้”
“ เราเชื่อว่าความรู้ ความสามารถ และความตั้งใจที่ดีของเรา ภายใต้เงื่อนไขความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาทุกอย่างไว้ได้ จะทำได้แค่ไหนยังไม่รู้ รู้แต่ว่าขอใช้บ้านหมากม่วงสร้างความหวังนี้ให้ได้ดีที่สุด ”