“งานออกแบบโครงสร้างกระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ในยุคที่ธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษมีการแข่งขันสูงและต่อสู้กันด้วยราคา ต่ายเลือกที่จะสร้างความแตกต่างและเพิ่มมูลค่าให้กับ Bangkokpack ด้วยการออกแบบโครงสร้างพิเศษ เพื่อเนรมิตจากกระดาษธรรมดา สู่งานกระดาษ 3 มิติที่มีความน่าสนใจ โดยคำนึงถึงทั้งในด้านการผลิต การวางแผนให้ใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า การขนส่งอย่างประหยัดพื้นที่ การออกแบบที่สวยงามและคำนึงถึงการใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดและนำไปใช้ใหม่อย่างใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ชื่อ : ภัทรา คุณวัฒน์ (ต่าย)
ธุรกิจ : Bangkokpack
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
จากกระดาษแผ่นเรียบสู่งานโครงสร้าง 3 มิติ
ในธุรกิจกระดาษที่มีการต่อสู้กันด้วยราคาในทุกวันนี้ Bangkokpack เลือกที่จะแตกต่างจากอุตสาหกรรมการพิมพ์บรรจุภัณฑ์กระดาษทั่วไป ด้วยประสบการณ์ยาวนานในวงการการพิมพ์และการสร้างสรรค์งานกระดาษ ต่ายจึงมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบโครงสร้างงานกระดาษ 3 มิติ ออกมาเป็นการผลิตสื่อและบรรจุภัณฑ์กระดาษในการจัดแสดงสินค้าในนิทรรศการมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าอีกด้วย
เบื้องหลังโครงสร้างที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์
ในการออกแบบงานทุกชิ้นจะมีการวางแผนการผลิตให้ใช้กระดาษอย่างมีประสิทธิภาพ มีการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบ โดยเน้นโครงสร้างที่เมื่อพับแล้วจะใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง ในขณะที่สามารถรับน้ำหนักได้ดี และยังมีการออกแบบที่สวยงาม ตอบสนองการใช้งาน ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าผ่านความคิดสร้างสรรค์ในทุกขั้นตอนของการออกแบบ
งานกระดาษที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ในการผลิตได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการนำกลับมาใช้ใหม่ และการกำจัดทิ้งโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด และเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พึงระลึกอยู่เสมอ
“การประหยัด เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง ในทุกแห่งและกาลทุกเมื่อ… ขอให้คำนึงถึงผลที่เกิดขึ้นจากการประหยัดนี้ให้มาก… การประหยัดนี้ ควบคู่ไปกับหลักการพออยู่พอกินพอใช้ จึงใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย และเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติตนตามเศรษฐกิจพอเพียงโดยแท้”
(พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2521)
ดินสอทรงงานของพระองค์ ที่จะใช้อย่างคุ้มค่าจนเหลือแท่งสั้นกุด เป็นหลักคิดสำคัญที่ใช้ในการออกแบบควรพึงปฏิบัติ เพราะการที่นักออกแบบอุตสาหกรรมจะสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมาบนโลก โดยออกแบบอย่างพอดี ใช้วัสดุอย่างพอเหมาะไม่ฟุ่มเฟือย ผ่านขั้นตอนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ สอดคล้องกับคุณค่าของสิ่ง ๆ หนึ่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา และเมื่อใช้งานเสร็จสิ้นตามวัตถุประสงค์แล้วไม่ก่อปัญหาขยะกับโลกใบนี้
สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะ พอแล้วดี The Creator รุ่น 2
สิ่งที่ได้รับจากการเข้าโครงการพอแล้วดี ช่วยให้ค้นพบคุณค่าและแก่นของงานออกแบบอุตสาหกรรม ว่าไม่ใช่เพียงออกแบบให้สวยงาม กระตุ้นให้เกิดการซื้อแต่เพียงอย่างเดียว ยังต้องช่วยผลักดันเป็นแบบอย่างที่ดีในการออกแบบอย่างพอเหมาะ การใช้วัสดุอย่างรู้ค่า คือ การประยุกต์งานออกแบบโครงสร้างให้ใช้วัสดุน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุด ให้มีโครงสร้างแข็งแรง พับง่าย ประกอบสะดวก ประหยัดพื้นที่ในการขนส่ง สร้างของเสีย และมลภาวะน้อยที่สุด