คุณพงศ์พัฒน์ บรรณารักษ์

ดอกไม้แต่ละชนิดจะเบ่งบานตามฤดูกาล เช่นเดียวกับธุรกิจของหนุ่มอีสานที่ชื่อ เล็ก-พงศ์พัฒน์ บรรณารักษ์ ที่ผ่านกาลเวลา ร่วงโรย เรียนรู้ เพื่อที่ผลิบานอีกครั้ง

เล็กเป็นหนุ่มหนองคายที่ร่ำเรียนมาในสายอาชีวะ สาขาคหกรรม คลุกคลีกับงานจัดดอกไม้จนแทบเป็นส่วนเดียวกับชีวิต ความทะเยอะทะยานหลังเริ่มชีวิตวัยทำงานไม่นาน เล็กเลือกลาออกจากงานประจำไปเปิดร้านดอกไม้กับเพื่อนที่ฝั่งลาว สามปีหลังจากนั้น ธุรกิจของเล็กและเพื่อนจบลงด้วยปัญหาเชิงผลประโยชน์ ชีวิตในฐานะเจ้าของธุรกิจที่เวียงจันทน์กลายเป็นเพียงอดีตในชั่วข้ามคืน

กลับมาไทยแบบเกือบมือเปล่า ชีวิตหนุ่มวัย 27 เคว้งคว้าง ออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อตามหาแรงบันดาลใจเท่าไหร่ก็ไม่เจอ จนกระทั่งกลับมาใช้ชีวิตเชื่องช้าอยู่ที่บ้านของตัวเอง จังหวัดหนองคาย มองเห็นกรอบรูปที่ติดบนฝาบ้าน

ดอกไม้บนกำแพงบ้าน

“พระบรมฉายาลักษณ์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโน้มตัวรับดอกบัวเหี่ยวๆ จากมือคุณยาย รูปนั้นเหมือนเปลี่ยนชีวิตผมทั้งชีวิตเลย ความรู้สึกวันนั้นคือ สิ่งที่เราวิ่งตามหาอยู่ จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แต่เคยนึกว่ามันต้องยิ่งใหญ่ ต้องโต ต้องอลังการ ดอกไม้ต้องดูแพง ต้องแฟชั่น ต้องล้ำหน้า ต้องก้าวข้ามคนอื่น พอวันหนึ่งทุกอย่างมันสลายหายไป เหมือนก่อปราสาททรายแล้วคลื่นซัดต่อหน้าต่อตา พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านเหมือนเป็นแสงสว่าง ว่าชีวิตที่มีคุณค่า มันไม่ต้องใหญ่เลย”

ภาพถ่ายภาพเดียว เป็นแสงนำทางชีวิตให้หนุ่มหนองคายคิดทำธุรกิจดอกไม้ที่บ้านเกิด แต่โจทย์ของธุรกิจไม่เคยง่าย ร้านดอกไม้ตามสมัยนิยมของเขาจึงไม่มีทั้งแผน ทั้งแนวทาง ไม่มีหลักการ ถือเป็นธุรกิจที่นำทางด้วยความปรารถนา แต่ปราศจากเกราะกำบังตน

จนกระทั่งมีเพื่อนฝูงแนะนำให้รู้จักกับโครงการพอแล้วดี เล็กผู้เชื่อในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอยู่เป็นทุนเดิม จึงมุ่งมั่นเดินทางไปสมัครเข้าร่วมโครงการที่สนามรอบสุดท้าย ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกลายมาเป็นผู้ผ่านเข้ารอบเบอร์สุดท้ายที่ผ่านด่านการเรียนรู้ ล้มลุกคลุกคลาน และอึดที่สุดคนหนึ่งของรุ่น

“โอกาสมาอยู่กับเราแล้ว ถ้าเราไม่อดทน ไม่พยายาม แล้วปล่อยให้มันหลุดมือไป แปลว่าเราไม่ได้ศรัทธากับสิ่งนั้นจริงๆ สุดท้ายเราก็จะกลับไปเป็นคนที่ล้มเหลวเหมือนเดิม”

เปลี่ยนตัวเองเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่า

“การรู้จักตัวเองในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือการกลับไปค้นหาว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ เราได้อะไรบ้างนอกจากเงิน ครอบครัวและคนใกล้ชิดเราได้อะไร แล้วสังคมได้อะไร คำตอบมันสะท้อนมาตำหัวใจของเราเลยว่าเราเห็นแก่ตัวเนอะ ไม่เคยคิดถึงคนอื่น เหมือนเราหยิบยืมความสวยงามจากธรรมชาติมาใช้ทำมาหากิน โดยที่เราไม่ได้ตอบแทนอะไรธรรมชาติเลย”

เล็กเล่าต่อว่า เมื่อได้เห็นตัวเอง เหมือนการได้ระเบิดออกมาจากข้างใน พอเข้าใจตัวเองมากขึ้น เขาจึงมองเห็นว่า ที่จริงแล้วเราทุกคนก็เหมือนดอกไม้ ที่มีคุณค่าได้มากกว่าที่เราคิด

“เราเป็นลูกอีสาน ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นเป็นสิ่งที่เราใกล้ชิดและอยู่ในสายเลือด พอเรากลับมามองตัวเองถึงได้เห็นว่ามันมีคุณค่า โดยเฉพาะในงานดอกไม้ ซึ่งยังไม่ได้ถูกถ่ายทอดและอนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน มันเลยเป็นความท้าทาย ความงามมันไม่ได้เกิดขึ้นจากความแพง แต่มันเกิดขึ้นจากความพอใจและความเข้าใจ”

หนุ่มลูกอีสานบอกว่า เอกลักษณ์ของการจัดดอกไม้ของคนอีสาน คือการจัดดอกไม้เพื่อใช้ในพิธีทางศาสนา เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความเคารพ มักเป็นการหยิบเอาดอกไม้ท้องถิ่นมาประดิดประดอยขึ้นเป็นขันหมากเบ็ง บายศรี หรือเครื่องบูชาที่เป็นต้นดอกไม้แบบต่างๆ ที่มักพบได้ในวัด

คนอีสานจะพูดว่า สวยแบบซื่อๆ คือสวยแบบนิ่งๆ ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้วิจิตรบรรจง แต่สวยงามออกมาจากความรู้สึกที่อยากถวาย อยากมอบให้ด้วยความเคารพ” หนุ่มนักจัดดอกไม้บรรยาย

การรู้จักตัวเองระดับลึกไปถึงคุณค่าที่ตนมี ทำให้เล็กเจอจุดยืนทางธุรกิจที่ไม่ใช่แค่การเป็นร้านจัดดอกไม้ตามสมัยนิยมทั่วไป แต่ตั้งใจให้ธุรกิจร้านดอกไม้ของเขาเป็นงานศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตคนอีสาน ทั้งอนุรักษ์ให้คงอยู่และประยุกต์งานดอกไม้อีสานให้ร่วมสมัย

เบ่งบานอย่างมีเหตุมีผล

ในช่วงเวลาที่กำลังก่อสร้างร้านดอกไม้ในบ้านของตัวเองให้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง เล็กลงพื้นที่ไปคุยและแลกเปลี่ยนกับแม่ค้าดอกไม้ รวมถึงกลุ่มแม่บ้านที่ทำงานจักสานเพื่อสร้างให้เกิดกลุ่มเครือข่ายที่เติบโตไปด้วยกัน

“แต่ก่อนแม่ค้าจะดิ้นรนไปซื้อดอกไม้เป็นกำมาขายให้คนบูชาพระ ซึ่งราคามันก็ไม่มีความแน่นอน แต่พอเราไปแลกเปลี่ยนคุยกันว่าเขาจะเอาสิ่งที่เขามีมาสร้างสินค้าอะไรได้ที่มันจะตรงกับแบรนด์ของเราบ้าง เขาก็ไม่ต้องวิ่งตามกระแสหาดอกไม้มากำขาย เพราะแม่ค้าบางคนก็มีสวนดอกไม้เล็กๆ ของตัวเอง มีสวนใบตองของตัวเอง เรามาพัฒนาขันหมากเบ็งกันไหม มันก็เกิดแรงบันดาลใจให้เขารู้สึกหวงแหนศิลปวัฒนธรรมบ้านเกิดของตัวเอง และทำให้มันยั่งยืนขึ้น เพราะเราไม่ได้โตไปคนเดียว”

การกลับมาฟื้นฟูงานดอกไม้บูชาแบบพื้นถิ่น อย่างการทำขันหมากเบ็ง ที่ต้องประดิษฐ์ขึ้นจากใบตองเพื่อสะท้อนองค์ธรรมขันธ์ 5 คือหนึ่งในงานฟื้นฟูที่เล็กตั้งใจจะทำให้สำเร็จ เพื่อให้การจัดดอกไม้แบบดั้งเดิมเป็นมากกว่าเครื่องมือทำมาหากิน

“ทุกวันนี้เราขายขันหมากเบ็งกันในราคาคู่ละสิบบาท แต่กว่าจะได้คู่หนึ่งใช้เวลานานมาก สิ่งที่ผมพยายามถ่ายทอดให้กลุ่มแม่ค้าเข้าใจ คือ ถ้าเรามองว่าสิ่งนี้เป็นแค่การทำมาหากิน วันหนึ่งมันจะสลายหายไป มันจะไม่หลงเหลือคุณค่า แบรนด์ดอกไม้อันค้ำคูณจะลูกขึ้นมาทำให้คนเห็นคุณค่าจากสิ่งเล็กๆ นี่แหละ เราอยากให้คนลุกขึ้นมาใช้สิ่งเหล่านี้เพราะมันเป็นความต้องการ มากกว่าที่จะเป็นการอนุรักษ์ เราอยากเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่ทำให้หนองคายกลับมามีชีวิตอีกครั้ง”

ค้ำคูณได้ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ชื่อแบรนด์ว่า ดอกไม้อันค้ำคูณ เป็นสิ่งที่เล็กได้มาหลังจากตกตะกอนผ่านแนวคิดแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพราะความหมายของมันสะท้อนฤดูกาลชีวิตของเขาที่ได้เปลี่ยนผ่าน

“อะไรที่จะล้ม เราก็ไปค้ำไว้ไม่ให้ล้ม ส่วนคูณ ถ้าแปลตามภาษาอีสาน แปลว่าสนับสนุน เพิ่มเติม ต่อเติมให้ดีงามขึ้น ทำจากสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ดอกไม้อันค้ำคูณ ก็เหมือนกับตัวเราที่เริ่มทำจากสิ่งที่กำลังจะล้มให้แข็งแรงขึ้น ทำจากสิ่งที่ยังไม่มีให้มันมีขึ้นมา และให้มันค้ำคูณ ทวีคูณ เพิ่มพูนขึ้น

วันสุดท้ายของโครงการพอแล้วดี หนุ่มลูกอีสานจึงเดินเข้ามาพร้อมบายศรีแบบประยุกต์ชุดใหญ่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและตอบแทนความรู้ของครูบาอาจารย์ที่มาร่วมให้คำแนะนำในโครงการ

“ผมอยากให้สิ่งที่ผมทำมีอิทธิพลต่อความรู้สึกของทุกคน และถ่ายทอดความเป็นพอแล้วดีมากที่สุด เลยตัดสินใจทำบายศรีแบบประยุกต์ขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆ เช่นเดียวกับการทำแบรนด์ ผมอยากให้คนรู้สึกว่า เวลาที่ได้รับสิ่งเหล่านี้ไป ถึงจะไม่ใช่คนอีสาน แต่เขารู้สึกประทับใจกับศิลปวัฒนธรรมอีสานมากขึ้นเช่นกัน”

ธุรกิจดอกไม้ของเล็กแม้จะยังไม่เป็นรูปร่างชัดเจนในวันนี้ แต่เราเชื่อว่ามันจะเบ่งบานอย่างพอดีได้ ด้วยแนวคิดที่เปรียบเสมือนเกราะอันแข็งแกร่ง ที่จะค้ำคูณไม่ให้ธุรกิจและชีวิตล้มลงได้ง่ายๆ

ถ้าเราน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของเรา ก็เหมือนมีเสาในการยึด มีรากที่แข็งแรง ไม่ต้องกลัวพายุที่จะเข้ามา ไม่ต้องวิ่งตามแฟชั่นที่จะเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจของเรามีคุณค่า

“อุปสรรค ความล้มเหลว ความผิดหวัง สิ่งเหล่านี้มันเข้ามาหาเราได้ทุกวัน อยู่ที่เราจะมีกำลังใจให้ตัวเองได้ยังไง เราจะรู้สึกขอบคุณตัวเราเองในแต่ละวันได้ยังไง ผมคิดว่าถ้าเรารู้จักตัวเอง ทำตัวเองให้ดี เราก็จะมีกำลังใจมากพอที่จะทำเพื่อคนอื่นมากขึ้น แล้วตัวเราก็จะมีคุณค่า” หนุ่มหนองคายทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

“คำว่าพอ ไม่ได้แปลว่าหยุด แต่คือการทบทวนตัวเอง มีเวลาเข้าใจ ทำให้ทุกวันนี้ชีวิตเรามีคุณค่ามากกว่าเดิม เพราะเราไม่ได้ลุกขึ้นมาจัดดอกไม้ทำมาหากิน แต่เรากำลังถ่ายทอดเรื่องราวของบรรพบุรุษ ผ่านงานจัดดอกไม้แบบอีสาน อย่างไม่ต้องอายใคร”