คิดแล้วลงมือทำ
เมื่อเพื่อนเป็นเอ็นจีโอและทำงานกับชุมชนที่จังหวัดเลย มีโอกาสชวนแก้วไปพื้นที่ซึ่งทำผ้าฝ้ายขายอยู่แล้วในรูปแบบทอเป็นเมตรส่งขาย รายได้ไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น แล้วชาวบ้านไม่รู้เลยว่าต้องขายใคร เพราะส่งโรงงานอย่างเดียว อีกทั้งไม่เคยเห็นเสื้อผ้าที่ตัดเสร็จแล้วจะออกมาเป็นอย่างไร โดยผ้าที่ขายในชุมชนขายไม่ถึง 200 บาทต่อเมตร แต่ถ้าผ้าแบบนี้มาขายกรุงเทพฯ เมตรละ 500 บาท คนทำผ้าก็น้อยงเรื่อย ๆ เพราะรายได้ไม่มาก และทำยาก จึงเข้าไปช่วยคิดราคาให้ใหม่ ราคาเพิ่มประมาณ 30% Folkcharm จึงเกิดขึ้นมา โดยที่ลูกแก้วเป็นคนกรุงเทพฯโดกำเนิด

กระบวนการมีส่วนร่วม
เมื่อเข้าไปในพื้นที่ ให้ความรู้เรื่องดีไซน์ต่าง ๆ ทำงานกับชุมชนสร้างรายได้มากขึ้นให้คนทำและทอผ้า ก็มีการขยายกลุ่มไปที่หมู่บ้านอื่น รวมทั้งหมด 3 หมู่บ้าน 1 อำเภอ ทุกปีที่เราตัดเป็นคอลเลคชั่นใหม่ก็จะส่งไปให้ชาวบ้านเจ้าของผ้าลองใส่ เขาจะตื่นเต้นว่าขายเป็นพันเลยเหรอ เป็นการเสริมพลังให้ชาวบ้านแล้วดึงคนต่างชาติ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีไปเรียนรู้กับชาวบ้าน ซึ่งก็ทำให้ช่วยมีรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยให้ชาวบ้านเห็นว่า การทอผ้าฝ้ายมีคุณค่า ไม่ใช่เพียงการมีรายได้อย่างเดียว
Folkcharm ได้เชื่อมโยงกับคนกรุงด้วยว่า ทำไมจะต้องซื้อผ้าฝ้ายทอมือด้วยราคาที่เหมาะสม โดยเราต้องเล่าถึงคุณภาพและเรื่องราว เพื่อให้เห็นคุณค่าการใช้ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของชุมชน

คิดถึงแบรนด์ Folkcharm
Folkcharm เป็น Slow Fashion มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ใช้ได้กับวงการเสื้อผ้าแฟชั่น Hand Made ของไทย เป็น 3 คีย์เวิร์ดที่วงการแฟชั่นต่างประเทศมีอยู่แล้ว แต่คนไทยไม่ค่อยได้ใช้ในการทำธุรกิจเสื้อผ้า
“เราเป็น Social Enterprise โดยฝ้ายที่ปลูกแบบวิถีดั้งเดิมปลูกหน้าฝนเก็บหลังฝนไม่ใช้น้ำและถอนหญ้าด้วยมือไม่ใช้สารเคมีฉีดพ่น ดังนั้นสินค้า Folkcharm ก็ไม่อยากให้ต่อราคา ซึ่งพี่ๆในโครงการพอแล้วดีได้ช่วยเรื่องโครงสร้างราคาและเขียนไดอะแกรมออกมาว่าสินค้าที่คุณซื้อเงินไปที่ใดบ้างและกระบวนการผลิตเป็นอย่างไรเช่นตั้งแต่ปลูกฝ้ายทอฝ้ายด้วยมือย้อมธรรมชาติ ตัดเย็บเหล่านี้จะติดชื่อไว้หมดรวมถึงผ้าม้วนไหนใครเป็นคนทำจะติดชื่อไว้ทั้งหมด เวลาขายสินค้าจะโชว์ให้กลุ่มลูกเป้าหมายของFolkcharm ดูเขาก็ไม่ต่อราคาเลย ซึ่งแบรนด์Folkcharm จะทำงาน 2 ขาคือด้านหารายได้เป็นของชุมชนและต้องสร้างองค์ความรู้ให้ผู้บริโภคด้วย”
ลูกแก้วเล่าต่อเนื่องว่า แนวคิดที่เป็น SE ต้องมีกำไร เมื่อก่อนไม่เชื่อเรื่องมีกำไร และเรารู้สึกผิดที่จะได้กำไร แต่เมื่อเรียนจากโครงการพอแล้วดี ถึงเห็นว่า หากไม่มีกำไรจะอยู่อย่างไร

คำสอนในหลวงร.9 ที่พึงระลึกเสมอ
เรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ซึ่งได้เข้าใจมากยิ่งในกรณีจะทำธุรกิจแบบพอแล้วดี โดยสามารถแตกออกมาได้ว่า ประมาณตน เราขาดตรงไหนบ้าง ความรู้ขาดอะไรบ้างต้องเพิ่มอะไรบ้าง นอกจากนี้เป็นเรื่องการปิดทองหลังพระ ครอบครัวเป็นข้าราชการทั้งบ้าน คุณพ่อทำเรื่องนี้มาอยู่แล้วจึงซึมซาบในตัว

ในฐานะพอแล้วดีรุ่น4
แนวคิดของโครงการพอแล้วดีสำคัญมาก เราสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ และพัฒนาได้ โดยเฉพาะเมื่อฐานความคิดเราดี ก็จะไปได้ไกล เมื่ออินกับคอนเซ็ปต์นี้ เขาก็ไปทำธุรกิจแบบไม่เอาเปรียบใครแล้วทุกอย่างจะตามมาเอง นอกจากนี้การได้เข้าโครงการพอแล้วดี เราได้เพื่อนใหม่หลากหลายสาขาธุรกิจมากเป็นเครือข่าย เหมือนกับศีลเสมอกันคุยกันรู้เรื่องสนิทกันหมด อาจจะเพราะเราไม่ได้คิดถึงตัวเลขอย่างเดียว แต่เราคิดถึง “คุณค่า” ก่อน “มูลค่า”
“พอแล้วดี” เป็นเหมือนจิตสำนึกในใจ ถ้าเรารู้จักศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง การใช้ชีวิตจะง่ายมาก