คุณวริศรุตา ไม้สังข์

เมื่อนึกถึงกิจกรรมเพื่อสังคม เรามักจะมองเห็นภาพกลุ่มคนหรือองค์กรที่มีกำลังคนและกำลังเงินมากพอที่จะต่อยอดไปทำธุรกิจเพื่อสังคมได้ แต่กับ HEARTIST ธุรกิจเพื่อสังคมที่ส่งมอบผลงานอันเต็มไปด้วยหัวใจจากเหล่าศิลปินคนพิเศษ กลับถูกปลุกปั้นมาโดย โปสเตอร์-วริศรุตา ไม้สังข์ เด็กสาววัย 26 ปีคนหนึ่งที่หวังจะต่อยอดสิ่งที่เธอชอบไปสู่ชุมชนเท่านั้น

ภาพเบื้องหน้าของ HEARTIST คือแบรนด์กระเป๋าผ้าแนวคิดดีที่มาเพิ่มคุณค่าและความหมายให้เหล่าเด็กพิเศษ นำเสนอผ่านการถักทอผ้าแต่ละผืนที่ประกอบขึ้นมาเป็นกระเป๋าแต่ละใบ น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเบื้องหลังการทำงานนั้น โปสเตอร์ต้องลงแรงลงใจไปเท่าไหร่ควบคู่ไปกับงานประจำ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความสุขใจ แต่ในวันหนึ่งเธอก็รู้ว่าร่างกายของเธอเริ่มประท้วงว่าอาจจะไม่ไหว

“เราเป็นผู้ประกอบการที่ล้มเหลว” โปสเตอร์ให้คำนิยามการทำธุรกิจของตัวเองตลอด 2 ปีที่ผ่านมา

“เราจะช่วยคนอื่นได้ยังไง ถ้าตัวเองยังแย่ลงทุกวัน มันเลยทำให้เราตามหาเส้นทางใหม่ของตนเองและของ HEARTIST ว่าควรจะเดินไปอย่างไร”

ในวันที่โลกธุรกิจบอกเธอว่าแค่ความชอบและความสุขที่จะให้เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ HEARTIST ยืนอยู่อย่างแข็งแกร่งได้ เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี เพื่อเรียนรู้และควานหาวิธีการที่ทำให้ HEARTIST อยู่ได้อย่างยั่งยืน

งานที่เติมเต็มหัวใจตัวเอง

“เรารู้สึกว่าตัวเองแตกต่าง ตั้งแต่เด็กเราเป็นคนอ่อนแอและขี้โรคมากๆ การทำงานอาสา มันช่วยให้เราได้เติมเต็มความรู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่นมาตลอด”

นอกจากจะสุขใจที่ได้แบ่งปันให้กับสังคมรอบข้าง มันอย่างเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของเธอด้วย จนวันหนึ่งเธอมีโอกาสได้เข้าร่วมทอผ้าบำบัดกับเด็กพิเศษของโครงการอรุโณทัย ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของแม่ๆ ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ซึ่งจะจัดกิจกรรมในการบำบัดโดยหนึ่งกิจกรรมสำคัญคือ การทอผ้า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอมองเห็นความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าให้ผลงานของเด็กๆ เหล่านี้

“เราเข้าใจว่าเงินสำคัญ เลยคิดว่าจะช่วยทำให้มันได้เงิน ให้มันเป็นโมเดลให้ยั่งยืน ให้เขาเห็นว่าการทอผ้าบำบัด สามารถทำรายได้แล้วคืนสู่สังคมได้จริง ไม่เป็นแค่เรื่องในอุดมคติที่สุดท้ายแล้วก็ต้องแล้วรอคนมาบริจาคอีกที เราเลยเข้าไปคุยกับแม่ของเด็กๆ  บอกว่าทำไมไม่ลองทำเป็นผลิตภัณฑ์ออกมา เดี๋ยวเราช่วยพัฒนาแล้วนำมาขายเอง” โปสเตอร์เล่า

จากที่เคยคิดว่าการทำ Social Enterprise เป็นเรื่องง่าย ลงทุนก้อนเดียว ไปซื้อผ้าล็อตเดียว จ้างคนออกแบบ ผลิตแล้วก็ขาย พอขายหมดล็อตแรกก็เอาเงินไปซื้อผ้าลอตสองแล้วเอามาผลิต หมุนเวียนไปแบบนี้ไม่น่ามีปัญหา

เธอบอกว่าเธอคิดผิดถนัด

“สิ่งที่คิดไว้พอมาเจอโลกแห่งความเป็นจริงมันพลิกเลย เพราะเราไม่มีความรู้ในการผลิต เลยเจอปัญหาเยอะมากจนสุดท้ายขายไม่ได้เงิน จมไปเลยครึ่งแสน ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกแล้วว่ามีปัญหาแต่คิดว่าไม่เป็นไรครั้งแรก ลองผิดลองถูกไปก่อน ล็อตต่อๆ มา ก็คิดทุกวิถีทางว่าทำยังไงให้มันขายได้ เอาผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติมาจับคู่ เอาไปคู่กับหนังทำให้ดูเเพงขึ้น รู้สึกว่ากระเป๋าไม่มีเอกลักษณ์ก็ไปลงทุนจ้างดีไซเนอร์ จ้างทำ 2 คอลเลกชั่นก็ขายไม่ได้ เพราะราคาสูงเกินไป พอเราขายแพงก็เหมือนเราขายความพิการ มันกลายเป็นว่าเราสับสนกับทุกทาง”

ปัญหาต่างๆ ผลักดันให้โปสเตอร์เข้าอบรมกับโครงการมากมาย เพื่อหวังว่าตนเองจะเป็นผู้ประกอบการที่ดีขึ้นได้ จนในที่สุดเธอก็ได้มาเจอกับแนวคิดแบบพอแล้วดี ที่เปลี่ยนแปลงได้จริง

เรียนรู้และสื่อสารตัวตนของ HEARTIST

แพสชั่นอันเเรงกล้ากลายเป็นดาบสองคมสำหรับเธอ เพราะคาดหวังอยากให้ HEARTIST ออกมาดี ทำให้โปสเตอร์จึงอดเอาเเบรนด์ตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นไม่ได้  

ไม่เพียงแค่นั้น การปลุกปั้นแบรนด์มากับมือ แถมยังคลุกคลีอยู่ในทุกกระบวนการผลิต ทำให้เธอมองไม่เห็นวิธีแก้ปัญหา อีกทั้งยังมองข้ามสิ่งสำคัญอย่างการสื่อสารความเป็น HEARTIST ออกมาให้คนภายนอกได้เข้าใจ

“ที่ผ่านมาเคยคิดที่จะไม่บอกว่าเด็กพิเศษเป็นคนทำ เพราะเราอยากให้ผลิตภัณฑ์สื่อสารด้วยตัวเอง แล้วการรู้ว่าใครทำเป็นเรื่องรอง ซึ่งถ้าคนอื่นไม่รู้ ทำไมเขาต้องมาซื้อของเราล่ะ ถ้ามันไม่มีคุณค่าอะไรที่จะส่งต่อที่ได้ให้คนอื่น”

“เราเรียนรู้ว่า ถ้าจุดยืนของเราคืออยากให้คนเห็นคุณค่าของคน ให้รู้ว่าทุกคนก็เหมือนกัน ทำไมเราต้องซ่อนเขาไว้ข้างหลัง ในเมื่อเราต้องการทำลายมายาคติ ต้องการบอกว่าคนพิการก็ทำได้เหมือนกัน สุดท้ายเราจึงตัดสินใจเลยว่าจะพูดออกมาเลย สื่อให้เต็มที่เลยว่าใครทำ แค่ต้องวางแผนว่าจะสื่อสารในรูปแบบไหน ทำอย่างไรให้ผลตอบรับมันเป็นบวกที่สุด”

ทำเพื่อสังคม ก็ต้องมีแผนธุรกิจ

“แต่ก่อนเราอยากทำ จะทำแบบนี้ โดยที่ไม่สนอะไรทั้งนั้น ในหัวคือเราอยากช่วยเขา อยากทำให้มันดี แต่ไม่มีแผน ไม่มีระบบ สุดท้ายเราถึงได้รู้ว่า สิ่งที่เป็นปัญหาคือตัวเรานี่แหละ”

เมื่อการทำเพื่อสังคมมาก่อนการทำธุรกิจ เป็นเหมือนการจดกระดุมที่ผิดมาตั้งแต่แรก

“เราชอบงานอาสา แต่ไม่ยอมทำเงินกับมัน ติดกับความคิดที่ว่าการทำกำไรมันไม่ดี เป็นการหากินกับคนพิการนู่นนี่ เราโดนมายาคติทั้งสังคมและของตัวเองมาเป็นกรอบความเป็นธุรกิจไปหมดเลย ซึ่งมันทำร้ายเรามาตั้งแต่ต้น”

วิถีการแก้ปัญหาแรกๆ ของโปสเตอร์ จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคมใหม่ ให้ยังช่วยน้องอยู่ แต่ต้องมีกำไรด้วย เป็นธุรกิจที่มองเห็นความเป็นจริงมากขึ้น

“ที่ผ่านมาเราอยากเป็นแบรนด์ที่ทำลายมายาคติของคนพิการ แต่ว่าเราจะทำได้อย่างไร ถ้าของเราไม่ได้ออกสู่ตลาด แนวคิดแบบพอแล้วดีทำให้เราเห็นทิศทางว่ามันควรจะไปยังไงต่อ อันไหนที่ควรทำคู่กัน ทำให้รู้ว่าที่ผ่านมาเราเรียงลำดับความสำคัญผิดหมดเลย”

สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ HEARTIST อยู่ได้ด้วยตนเอง

“ถ้าไม่มีโปสเตอร์ก็ไม่มีใครทำหรอก” ประโยคแสดงความห่วงใยจากลุ่มแม่ น่าจะสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ HEARTIST

“เราคิดว่าเราทำคนเดียวได้ ไม่เหนื่อยเลย แต่พอถอดรหัสออกมาถึงได้รู้ว่าทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจ เราทำหมดเลยนี่ ตั้งแต่ไปแบกผ้าที่อุบลฯ ออกแบบกระเป๋า ไปเรียนตัดเย็บ ทำแพตเทิร์น ขาย ดูมาร์เก็ตติ้ง แพ็กเกจ ทำเฟซบุ๊ก แล้วถ้าเราตายล่ะ แบรนด์จะไปอยู่ตรงไหน นั่นคือส่วนสำคัญที่ทำให้เรากลับมาวางแพลนใหม่ทุกอย่าง”

“ถ้ามันเป็นธุรกิจที่มั่นคงมากขึ้น ภายในปีสองปีนี้ เราต้องมีกำไรพอที่จะจ้างคนมาเป็นผู้ช่วยเรา และปีที่ 3 อาจจะเป็นการส่งต่อชุดความรู้ เราจะถอยออกมาดูภาพรวมแทน ถ้าวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้วก็มีคนมาทำต่อได้ทันที แต่ว่าทุกอย่างต้องใช้เวลา”

ค่อยๆ เติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ความสำเร็จของ HEARTIST ไมไ่ด้วัดผลที่ฝั่งผู้บริโภค สำหรับโปสเตอร์ มันคือการเปลี่ยนให้การทอผ้าให้มีความหมายมากกว่าแค่การบำบัด แต่อยากให้มันเป็นการเพิ่มคุณค่าของชีวิต

“เราทำกี่พกพาให้น้องๆ กลับไปทำเองที่บ้านได้ เหมือนกำลังใจในการมีชีวิตของน้อง ซึ่งมันไม่ได้ฝึกแค่น้อง แต่ยังฝึกครอบครัว ฝึกผู้ปกครองด้วย ให้รู้ว่าลูกเขาสามารถทำอะไร ซึ่งมันอาจจะไปช่วยแก้ปัญหาลึกๆ ในครอบครัวของเด็กพิเศษ ช่วยเรื่องการยอมรับกันเองในครอบครัวได้ นี่คือสิ่งแรกๆ ที่เรารู้สึกว่า ถ้าวัดความสำเร็จ เราวัดที่ตรงนี้”

แม้จะต้องทุ่มเทแรงกาย ทำธุรกิจให้จริงจังมากกว่าเดิม โปสเตอร์ก็ยังยืนยันว่า HEARTIST คืออาชีพเสริม แต่มันจะเป็นอาชีพเสริมแบบเต็มเวลา ที่เธออยากอยู่กับมันไปทั้งชีวิต

“เราอาจจะมีมุมมองต่างจากคนอื่นที่บอกว่าให้ลาออกจากงาน มาทำเต็มตัว แล้วมันจะไปได้เร็ว แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าเราขยายกิจการ แต่ข้างหลังไม่พร้อม เรารู้สึกว่าค่อยๆ ก้าวไปแบบนี้ดีกว่า” หญิงสาวเล่าด้วยรอยยิ้ม

“เราอยากเป็นแรงบันดาลใจให้คนเห็นว่า งานอดิเรกของคนรุ่นใหม่ที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบพร้อมช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นทางหนึ่งทางใดไปพร้อมกัน มันทำได้ แค่ต้องจัดเวลาและวางแผนให้พอดี อาจเหนื่อยหน่อย แต่เป็นความเหนื่อยที่มีความสุข และความสุขจะทำให้เราไม่ยอมแพ้กับมัน”