“การทำอาหารเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน”
Hom Hostel & Cooking Club หรือ หอมคุ้กกิ้งโฮสเทล โฮสเทลใจกลางสุขุมวิท ที่มีจุดเด่นคือห้องครัวนานาชาติขนาดใหญ่ เปิดต้อนรับนักเดินทางที่หลงใหลในการทำอาหารจากทั่วทุกมุมโลก มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวการปรุงอาหารในแบบฉบับของตนเอง โดยตูนเชื่อว่า “การทำอาหารเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน” ดังนั้นสำหรับหอมคุ้กกิ้งโฮสเทลแล้ว การทำอาหารจึงเปรียบเสมือนเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวดี ๆ ของประเทศ และยังเป็นการมอบโอกาสและสิ่งดี ๆ ตอบแทนสู่สังคม ผ่านกิจกรรมการทำอาหารที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอด้วย
ชื่อ : ภาวลิน ลิมธงชัย มาสะกี (ตูน)
ธุรกิจ : Hom Hostel & Cooking Club
จังหวัด : กรุงเทพมหานคร
จากวิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมันสู่กิจการโฮสเทล
เริ่มต้นจากการทำงานเป็นวิศวกรแท่นขุดเจาะน้ำมัน และค้นพบว่านั่นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของตัวเอง ตูนจึงเริ่มเข้าคอร์สต่าง ๆ เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ ทั้งการทำอาหาร การทำธุรกิจ การพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ตัวเองรัก และเริ่มเก็บหอมรอมริบเพื่อเดินตามความฝันของตัวเอง
จุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงผู้คนด้วยการทำอาหาร
ด้วยความรักในการทำอาหาร และความสุขจากการพบปะผู้คนที่หลากหลายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยว เมื่อตูนมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้านแล้ว หอมคุ้กกิ้งโฮสเทล จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยมีจุดเด่นที่ต่างจากโฮสเทลอื่น ๆ ที่ห้องครัวนานาชาติขนาดใหญ่ คอยต้อนรับนักเดินทางที่หลงใหลในการทำอาหารจากทุกสารทิศ และเปิดโอกาสให้ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกได้มาแบ่งปันเคล็ดลับปลายจวักในแบบฉบับตนเอง นอกจากนี้หอมคุ้กกิ้งโฮสเทลยังมีการสอนทำอาหารไทย และมีแปลงผักสวนครัวปลอดสารพิษบนชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่การเรียนรู้ชั้นเยี่ยมของคนกรุงเทพและชาวต่างชาติ ให้ได้ทำความรู้จักกับพืชผักสวนครัว รวมถึงสมุนไพรต่าง ๆ ของไทย และสามารถเลือกนำมาประกอบอาหารได้ตามใจชอบ สิ่งที่พวกเขาได้รับจึงไม่ใช่แค่การได้ลิ้มรสอาหารไทยแท้ ๆ แต่ยังได้สัมผัสถึงขั้นตอนการเลือกสรรวัตถุดิบ และได้มีส่วนร่วมสูงสุดในการรังสรรค์อาหารแต่ละจาน
ครัวนานาชาติสู่ครัวแบบท้องถิ่น
นอกจากโฮสเทลแห่งนี้จะเป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อของผู้ที่รักในการทำอาหารจากทั่วโลกแล้ว ก็ยังเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังชุมชนผ่านวัฒนธรรมการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวไปยังแหล่งอาหารในชุมชนต่าง ๆ หรือการเปิดพื้นที่ครัวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำอาหารสำหรับคนที่ขาดโอกาสในสังคม และการจัดกิจกรรมเพื่อนำรายได้ช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ
คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พึงระลึกอยู่เสมอ
เศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีเป็นขั้น ๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซนต์นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ต้องมีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ดังนั้นกำไรทุก 5% ของหอมจะให้กลับไปยังทีมงาน เพื่อให้พวกเขาได้มีความเป็นเจ้าของ และรักหอมเหมือนที่เรารัก ส่วน 10% ของกำไรจะเก็บไว้เพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคมและชุมชนต่อไป
สิ่งที่อยากฝากไว้ในฐานะ พอแล้วดี The Creator รุ่น 2
จากคนที่ไม่เคยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อได้มาอยู่ในโครงการ พอแล้วดี ได้เห็นเพื่อน ๆ ที่มาจากหลากหลายธุรกิจรวมทั้งเพื่อนที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กัน และเมื่อเราได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปอยู่ในธุรกิจของตัวเอง ทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละธุรกิจอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น สามห่วงสองเงื่อนไข การรู้จักตน คือการทำ Brand model ที่เราตั้งอยู่ในการประมาณตน ไม่ทำเกินตัว การมีเหตุมีผล คือการทำ Business Model Canvas ที่ต้องใช้เหตุผลในการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง โดยไม่เพียงแค่คิดถึงตัวเองแต่ต้องคิดถึงสังคมมากขึ้น และห่วงสุดท้ายคือ การมีภูมิคุ้มกัน คือการทำ Risk Management ที่ทำให้เราทำธุรกิจแบบประเมินความเสี่ยงให้รอบด้าน เพื่อให้ธุรกิจเราอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแน่นอนไม่ใช่เพียงเพื่อธุรกิจเรา แต่ควรให้ผลกระทบด้านบวกต่อสังคมเพื่อให้สังคมยั่งยืนไปกับเรา สุดท้ายสองเงื่อนไขที่เราต้องมีเสมอคือ มีความรู้ คู่คุณธรรม ที่ผ่านมาเราคิดว่าเป็นเรื่องพื้น ๆ แต่การเรียนสิบวันพร้อมการศึกษาธุรกิจของเพื่อน ๆ ไปด้วย พร้อมด้วยเทรนเนอร์ที่เป็นคนเก่งในด้านต่าง ๆ ของสังคม รู้สึกได้ถึงพลังของการให้ที่พวกเขามีต่อธุรกิจเล็ก ๆ แบบเรา จนทำให้อยากส่งต่อพลังการให้แบบนี้ออกไปสู่สังคมเช่นกัน ตูนก็หวังว่าหอมจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่สังคม และสามารถให้คำปรึกษาแก่คนอื่นในการทำธุรกิจได้เช่นกัน