คุณรัตมา เกล้านพรัตน์
คุณชัยพร เวชไพรัตน์

บางคนมีทุกข์จากการทำงานที่ไม่ได้รัก ขณะที่บางคนทำงานที่รัก แต่เหตุใดกลับยังมีทุกข์… เรื่องราวการเติบโตของแบรนด์ต้นไม้จิ๋วนี้ น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี

เช่นเดียวกับธุรกิจจำนวนมากที่กำเนิดด้วยความรัก miNATURE_c เริ่มต้นเรียบง่ายจากความหลงใหลในต้นไม้ของชายหนุ่ม บอส-ชัยพร เวชไพรัตน์ จากแค่ลงมือทำกระถาง เพาะกระบองเพชร สู่การเลี้ยงบอนไซจิ๋ว ลามไปถึงต้นไม้จิ๋วอื่นๆ บอสสะสมความรู้เรื่องการเลี้ยงต้นไม้ด้วยตัวเองเป็นเวลากว่าสามปีจนเริ่มเชี่ยวชาญ

จังหวะนั้น ธุรกิจที่ตนรักก็นำพาเขามาเจอกับหญิงสาว เฟรม-รัตมา เกล้านพรัตน์ สองปีจากนั้น บอสจึงได้เฟรมเข้ามาช่วยเป็นทั้งลูกมือในการปลูก เป็นช่างภาพ และยังเติมเต็มในฐานะผู้ดูแลหน้าร้านออนไลน์ คอยสื่อสารและติดต่อกับลูกค้า

ขณะที่ธุรกิจต้นไม้จิ๋วอายุห้าปีกว่าๆ กำลังโตไปได้สวยในแง่รายได้ บอสและเฟรมควรจะเป็นเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ที่ไม่ว่าใครต้องอิจฉา แต่ในเวลานั้น ทั้งคู่กลับเกิดคำถาม

ทำไมทำสิ่งที่ชอบแล้วไม่มีความสุข?

“เราทำเยอะไปรึเปล่า ทำไมยังเหนื่อยเท่าเดิม แต่ไม่มีอะไรที่เป็นระบบ ไม่มีอะไรรูปเป็นร่างชัดเจนสักที” บอสกับเฟรมช่วยกันบรรยายความทุกข์ที่จู่โจมพวกเขาตอนธุรกิจก้าวเข้าสู่ปีที่ห้า คำถามซึ่งย้อนแย้งกับช่วงเวลาขาขึ้นของการทำงาน

“จริงๆ ปีที่แล้วไม่ใช่ว่าไม่ดีนะ มันเป็นปีที่ดีมาก ออกสื่อเยอะมาก ตัวเงินก็ดีมาก แต่ว่าชีวิตก็รุงรังมาก และสิ่งที่คาดหวังกันไว้ว่าจะทำ กลับไม่ได้มีเวลาแบ่งปันไปทำเลย ทะเลาะกันบ้าง เพราะช่วงเวลาผ่อนคลายแทบไม่มี ตอนนั้นเรากลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเราทำสิ่งที่เรารัก แต่กลายเป็นว่าเราหาความสุขกันไม่ได้เลย” พูดจบ หญิงสาวส่งต่อให้ชายหนุ่มผู้ริเริ่มแบรนด์เล่าต่อ

“จะบอกว่าบ้างานก็ได้ คือผมรู้สึกว่าเราก็ทำของเราไป พัฒนาตัวเองไป จนลืมมองตัวเองว่าเฮ้ย เรามีคนข้างๆ นะ และเขาก็ต้องมีเวลาพักผ่อน แต่เราไปคาดหวังให้เขาทำงาน 24 ชั่วโมง นั่นเป็นที่มาของการทะเลาะกัน แล้วมันก็บั่นทอน จนถึงจุดหนึ่ง ผมถึงได้รู้ว่าคนเราความพอมันไม่เท่ากัน”

คำว่า ‘พอ’ เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาสะดุดใจกับชื่อโครงการ ‘พอแล้วดี’ ทั้งคู่จึงศึกษาย้อนดูโครงการครั้งที่ผ่านๆ มา แล้วตัดสินใจลองสมัครมาเข้าร่วมด้วยคำถามค้างคาในใจว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จะนำมาใช้กับธุรกิจขายต้นไม้ของพวกเขาได้ยังไง

ภูมิใจในตัวเองได้ แต่ต้องมีภูมิคุ้มกัน

จากหนุ่มสาวที่เคยเชื่อมั่นและภูมิใจในแบรนด์ของตัวเองมาก เมื่อได้มาเรียนรู้หัวใจ 3 ข้อของหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้เข้าใจว่า ทั้งสองรู้จักตัวเอง และพกพาความภูมิใจเต็มกระเป๋า แต่กลับไม่มี ‘ภูมิคุ้มกัน’ เลยสักนิดเดียว

“ก่อนหน้านั้น เราภูมิใจในสิ่งที่เราทำมาก คิดว่าทุกอย่างที่เราสร้างมามันดีแล้ว แต่พอเราต้องมาเล่าให้คนอื่นฟัง กลับกลายเป็นว่า ไม่มีใครอินกับสิ่งที่เราเล่าเลย เราโดนถามเลยนะว่า เราขายต้นไม้ไปให้คนอื่น แล้วตอนต้นไม้ตายไม่เสียใจเหรอ คุณรักต้นไม้จริงๆ รึเปล่า” หนุ่มนักปลูกเล่า

กลับไปนอนคิดถึงสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม บอสจึงได้เห็นตัวเองที่ผ่านมา ว่านิสัยแบบศิลปินสุดติสท์ แถมยังแอนตี้โลกออนไลน์ของตัวเอง คือปัญหา

“ทำไมเขาต้องถาม ก็เขาไม่เข้าใจ เขาไม่เคยเห็นไง เพราะเรามัวแต่ทำ เราคุยอยู่กับต้นไม้ทั้งวัน เราคิดว่าคนที่ได้รับต้นไม้จากเราไปเขาจะรับรู้ได้เอง แต่เราไม่เคยเล่าหรือแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่นได้เรียนรู้เลยว่าการทำต้นไม้เนี่ย มันไม่ใช่แค่การปลูกนะ มันได้เห็นอะไรมากกว่านั้น กลายเป็นว่าพอไม่เล่า คนซื้อไม่เข้าใจ มันไม่มีค่าเลย” หญิงสาวช่วยเสริม

การวางแผนสร้างภูมิคุ้มกันให้แบรนด์ด้วยคอนเทนต์ แบ่งปันความรู้และความรักที่มีต่อต้นไม้ในโลกโซเชียล ทำให้ทั้งสองคนต้องลุกมาจัดระเบียบการทำงานใหม่ จัดการเวลาของตัวเองให้มีวันที่ได้หยุด เพื่อที่จะจัดการความคิดและเรียบเรียงเรื่องราวออกมาบ้าง

“ถ้าเรามัวแต่อยู่ในโลกออฟไลน์ เราทำ เรารู้คนเดียว แล้วเมื่อเราตาย มันก็ตายไปคนเดียว หายไปเลย ความคิดและความรู้นี้มันไม่ได้ส่งต่อให้ใครเลย การที่เราลุกขึ้นมาเล่า มันเป็นการส่งต่อให้คนอื่นได้รู้ เขาอาจจะไปต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเราด้วยซ้ำ แล้วมันก็อาจจะทำให้โลกดีขึ้น เหมือนเกิดเป็นสังคมที่จะมาแลกเปลี่ยนจุดประกายไอเดียกัน ผมรู้สึกว่านี่เป็นภูมิคุ้มกันของเรา”

แบ่งปันได้ แต่ต้องมีเหตุมีผล

เมื่อต้องเริ่มเล่าเรื่อง ทำให้บอสและเฟรมกลับไปทำความเข้าใจตัวตนของแบรนด์อีกครั้ง หลักคิดเรื่องการ ‘มีเหตุมีผล’ จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้พวกเขาต้องมานั่งเขียนแผนผังธุรกิจ (Business Model Canvas) กันใหม่

“การทำธุรกิจ เราควรจะบาลานซ์ตัวเอง ไม่ใช่ทำอะไรสุดโต่ง ต้องประเมินว่าธุรกิจที่เราทำ เราขายใคร ไม่ใช่แค่ออกมาเล่าให้คนเข้าใจในสิ่งที่เราทำ แต่เราต้องหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ หาตำแหน่งและกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้ชัด”

เฟรมเล่าต่อว่า ช่วงปีนั้นพวกเขาได้มองเห็นคู่แข่งทางธุรกิจ เริ่มมีแบรนด์ที่ขายต้นไม้เล็กๆ เหมือนกัน เลยต้องกลับมาหาจุดแข็งของแบรนด์ ซึ่งก็ได้พบว่า การลงมือปลูกและทำต้นไม้ด้วยตัวเองของบอสคือสิ่งที่ทำให้ miNATURE_c แตกต่าง

“คนเลี้ยงต้นไม้แล้วตาย เขาก็ไม่กล้าเลี้ยงอีกเลย อาจจะหายไปเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่รู้จักการเลี้ยงต้นไม้ที่ถูกต้อง แบรนด์อื่นส่วนใหญ่เขาไม่ได้ทำต้นไม้เอง เพราะฉะนั้นเขาไม่มีวันรู้ว่าจะต้องสอนคนยังไง แต่เรารู้และอาจจะมองเห็นในเรื่องเล็กๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็นด้วยซ้ำ” บอสเล่าเหตุผลของการเพิ่มเวิร์กช็อป เข้ามาเป็นหนึ่งในสินค้าของแบรนด์ ที่มีไม่บ่อยนัก แต่สม่ำเสมอทุกเดือน

“เวิร์กช็อปของเรา ตั้งแต่กระบวนการแรกเราจะบอกเลยว่า ถ้าคุณนิสัยแบบนี้ บ้านแบบนี้ คุณเหมาะกับต้นไม้แบบไหน เพราะคนสิบคนอาจจะเลี้ยงต้นไม้เหมือนกันไม่ได้ นิสัยแต่ละคน สภาพแวดล้อม ภูมิอากาศตรงนั้นมันแตกต่างกันหมด เราว่าต้นไม้ก็จะตายน้อยลง คนที่มาเวิร์กช็อปกับเราเขาก็จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันของเราอีกที ที่จะแบ่งปันความรู้นี้ที่เขาได้รับให้คนรอบข้าง เหมือนเราไม่ได้ขายต้นไม้ แต่เราขายแนวคิด มุมมองชีวิตที่ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้” บอสอธิบาย

“จากที่เคยใช้ชีวิตแบบไม่สนว่ามีผลกระทบต่อสิ่งรอบข้างยังไง แต่เมื่อเขาเลือกที่จะเลี้ยงต้นไม้ คือการเพิ่มสิ่งมีชีวิตหนึ่งเข้าไปในสิ่งแวดล้อมเขา ซึ่งถ้าเขาไม่ดูแล สิ่งแวดล้อมของเขามันก็จะตายไป ดังนั้น เขาจะต้องมีเวลามาดูแลต้นไม้ต้นนี้มากขึ้น ซึ่งแปลว่าเขาต้องมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น แนวคิดต่อชีวิตมันก็เปลี่ยนไปด้วยนะ”

ยิ่งเล็ก ยิ่งเห็น สิ่งที่ทำจึงยิ่งมีคุณค่า

แนวคิดแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้บอสและเฟรมได้ตกผลึกความคิดอย่างรู้จักแก่นของสิ่งที่ทำ ออกมาเป็น ‘สัญญา’ ที่พวกเขาให้กับลูกค้า และให้กับตัวเองในฐานะคนทำธุรกิจ

“มันคือประโยคที่ว่า ยิ่งเล็ก ยิ่งเห็น เพราะการเติบโตทีละมิลลิเมตรของต้นไม้เล็กๆ ทำให้เราต้องคอยสังเกตการเปลี่ยนแปลง และคอยระมัดระวัง ทำให้เราได้เห็นความอดทน เห็นการรอคอย เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นว่าในสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ มันจะทำประโยชน์อะไรต่อคนอื่นได้อีกบ้าง” เจ้าของธุรกิจทั้งสองช่วยกันเล่า

เร็วๆ นี้ miNATURE_c มีแผนจะจัดเวิร์กช็อปสำหรับบำบัดอาการให้กับกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือเด็กที่มีปัญหาเรื่องสมาธิ รวมไปถึงจะชักชวนนักออกแบบและเพื่อนฝูงศิลปินมาร่วมออกแบบกระถางในคอลเลกชั่นใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการทำงาน และการแบ่งปันคุณค่าสู่สังคมอย่างพอดี

“หน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสังคมก็คือตัวของเราเอง เราไม่จำเป็นจะต้องตอบแทนคุณค่าทางสังคมภาพใหญ่ก็ได้ เราก็มองกำลังของเราว่าไหวแค่ไหน เราทำจากจุดที่เราไหว สื่อสารจากต้นไม้เล็กๆ ที่เราทำ ทีละคน สองคน สามคน มันก็จะค่อยๆ กระจายออกไปสู่สังคมได้อย่างมั่นคง นั่นแปลว่าเราไม่ได้เติบโตไปคนเดียว”

“มันไม่ใช่แค่ฉันทำ ฉันรักของฉัน แล้วคนอื่นก็ได้ต้นไม้ไป แต่คือการที่เรามีเพื่อนฝูง มีเครือข่ายของเรา แล้วเราก็พาทั้งหมดนี้ไปด้วยกันในแบบที่เราคาดหวังจะให้เป็น มันคือการเดินไปด้วยกันแบบที่ไม่ได้มีความโลภเป็นตัวนำ พอแล้วกับการกอบโกยผลประโยชน์เข้าตัวเอง”

ถามตอนนี้ คู่รักเจ้าของธุรกิจตอบเราได้ชัดเจนแล้วว่า

จะทำสิ่งที่ชอบให้มีความสุขได้ยังไง

“นิยามธุรกิจแบบพอแล้วดี คือแค่ทำธุรกิจให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ พอดี ไม่เกินตัวเรา ไม่เบียดเบียนคนอื่น ในเวลาที่เรามีเยอะจนเกินไปก็แบ่งปันให้คนอื่นบ้าง แล้วทุกๆ อย่างมันก็จะสมดุล”