คิด แล้วลงมือทำ
จากคนที่เรียนเรื่องการโรงแรมและทำงานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาโดยตลอด โดยธนาวุฒิทำงานโรงแรม ภรรยาทำงานทัวร์ เมื่อถึงวัย 30 ปีก็เห็นว่า ประสบการณ์ และวัยที่สมควรจะเป็นเจ้าของธุรกิจบริษัทท่องเที่ยวเล็กๆ ได้ แต่ต้องแตกต่างจากบริษัททัวร์เดิมๆ และอาจจะไม่ใช่จุดหมายปลายทางเดิมๆ ที่ลูกค้าต่างประเทศพูดติดปากคือ เที่ยวกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ นั่นหมายถึงการท่องเที่ยวชุมชนใหม่ๆ ผู้คนในท้องถิ่น นอนโฮมสเตย์ จึงเกิด Siam Rise Travel ขึ้นมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคแรกๆ ที่เกิดการท่องเที่ยวชุมชน ส่งผลให้ปัจจุบันการท่องเที่ยวแนวนี้ตอบสนองความต้องการนักท่องเที่ยวในวงกว้าง และชุมชนเองก็พัฒนา เติบโตพร้อมกับการท่องเที่ยวแนวนี้
“เราทำงาน 2 แบบคือ ทัวร์แบบมีเส้นทางให้แล้ว กับท่องเที่ยวชุมชนที่เราจะต้องร่วมพัฒนากับชุมชน เลยมีคำถามว่าอยู่กลุ่มไหนแน่ Tech StartUp หรือไม่ Social Enterprise หรือไม่ บริษัททัวร์หรือไม่ นั่นคือคำถามแรก อีกคำถามหลังทำท่องเที่ยวชุมชนมา 3-4 ปีพบว่า มีชุมชนที่มีการพัฒนายั่งยืนจริงๆ ที่มองภาพรวมจะก้าวไปพร้อมกันน้อยมากคือไม่ถึง 5% เพราะอะไร ดังนั้น หากมาเรียนรู้เรื่องศาสตร์พระราชาจะเข้าใจตรงนี้ได้มากกว่า รวมถึงเรื่องธุรกิจ”

กระบวนการมีส่วนร่วม
จากข้อมูลที่ทำ Brand Model เห็นตัวตนที่ชัดเจนว่า Siam Rise Travel เป็นบริษัททัวร์ที่ทำงานร่วมกับทุกฝ่ายแบบ Exclusive สามารถนำศาสตร์พระราชาเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เข้าไปใช้ในชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในชีวิตการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งเราได้ร่วมทำงานแล้วประมาณ 20 ชุมชน โดยแต่ละชุมชนจะมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเลือกท่องเที่ยวตามความสนใจ ผลิตภัณฑ์ ที่ Siam Rise Travel

คิดถึงแบรนด์ Siam Rise Travel
เรานำเสนอการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์แบบพักผ่อน ซึ่งสามารถสร้าง Impact ให้กับชุมชนได้ ยกตัวอย่างชุมชนคลองโยง นครปฐม เป็นเกษตรกร ปลูกข้าวออกานิคส์ ท่ามกลางพื้นที่ปลูกข้าวเคมี Siam Rise Travel ต้องการทำพื้นที่ชุมชนให้เห็นว่า การปลูกข้าวหรือพืชปลอดสารเคมี สามารถเพิ่มมูลค่าและคุณค่าผลิตภัณฑ์ พร้อมวิถีชีวิตที่ดีของชาวนาในชุมชนนี้ได้ โดยการที่เราพานักท่องเที่ยวไปชุมชนคลองโยงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ชาวนาปลูกข้าวเคมี่ได้มองเห็นว่า การปลูกข้าวอินทรีย์ แม้ว่าจะเรื่องยากมาก และผลผลิตได้น้อยหากเทียบการใช้เคมี แต่ก็สามารถมีรายได้จากส่วนอื่นมาจุนเจือได้ ทำให้ชีวิตดีขึ้น เป็นการช่วยเปลี่ยนวิธีคิดชุมชนรอบๆ ไปในตัว และจะมีโอกาสขยายพื้นที่ปลูกข้าวปลอดสารเคมีได้มากขึ้น

คำสอนในหลวง ร.9 ที่พึงระลึกเสมอ
ผมเชื่อในเรื่องที่พระองค์เคยสอนที่ว่า เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำงานทีละอย่าง เป็นการทำงานที่โฟกัส ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จากจุดเล็กไปจุดใหญ่ ซึ่งทุกวันนี้เราก็ทำงานกันเพียง 3 คน แต่ทำงานกับชุมชนมากในระดับหนึ่ง ซึ่งเราค่อยๆ เติบโตขึ้นไป

ในฐานะพอแล้วดีรุ่น4
การเข้าโครงการ พอ แล้ว ดี The Creator เหมือนการรีวิวตัวเองว่าที่ผ่านเราทำอะไรอยู่ ขณะนี้เราทำอะไรอยู่ และต่อไปเราจะทำอะไร เหมือนกับเป็นการรู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่ง พอ แล้ว ดี ก็คือการรู้จักตัวเอง ประมาณตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมพบด้วยตัวเองอย่างแท้จริง