หากเรื่องราวการสร้างแบรนด์ของ ‘Sivatel Bangkok Hotel’ จะเป็นบทเรียนในการทำธุรกิจให้นักปั้นแบรนด์รุ่นใหม่ หัวข้อที่ต้องหยิบยกมาทำความเข้าใจให้ชัด คือการตั้งเป้าหมายที่ไปถึงได้จริง

ด้วยพิกัดใจกลางเมือง รายล้อมด้วยโรงแรมหรูแบรนด์ดัง บวกกับแนวคิดของครอบครัวที่สนใจความพอเพียงอยู่เป็นฐาน ทำให้ทายาทรุ่นที่ 3 อย่างหนิง-อลิสรา ศิวยาธร ผู้เข้ามารับหน้าที่ปรับเส้นทางเดินของธุรกิจ โรงแรมเลือกวางตัวเองบนคำว่า ‘Sustainability’ และหยิบจับองค์ประกอบต่างๆ มาใช้เพื่อต่อภาพความยั่งยืนให้แจ่มชัด แต่กลับกลายเป็นว่า เป้าหมายนี้กลับใหญ่เกินไปและไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง แต่เมื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านแว่นที่ชื่อว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทฤษฎีที่ไม่ใช่เพียงคำว่าพอ แต่คือกรอบคิดและวิธีการที่ทำให้โรงแรมกลางเมืองแห่งนี้ เดินไปสู่ความยั่งยืนอย่างที่ตัวเองเป็น ศิวาเทล กรุงเทพ ก็พบวิถีของตัวเองที่ทำได้ดีและทำได้อย่างมีความสุข นี่คือเรื่องราวที่หญิงสาวคนนี้ได้พบ ได้ลงมือทำ ได้เห็นผลลัพธ์ และได้ส่งต่อออกไปด้วยความเข้าใจอย่างแท้จริง

โรงแรมดีที่ยังไม่พอดี
หนิงเล่าว่าเธอเคยทำบริษัท interior เต็มตัว ก่อนมารับหน้าที่รีแบรนด์โรงแรมครอบครัวเพราะ Brand Position ที่เคยวางไว้โรงแรมสำหรับนักธุรกิจซึ่งไม่ตรงกับกลุ่มลูกค้าปัจจุบันที่เป็นนักท่องเที่ยวและเลือกมาใช้บริการที่ศิวาเทลมากขึ้น และด้วยคำสอนจากอากงผู้หอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากเมืองจีนที่สอนลูกหลานทุกคนว่า ว่าให้ดำเนินชีวิตและทำธุรกิจบนความพอเพียง หากมีอะไรที่ทำแล้วสามารถตอบแทนสังคมและประเทศชาติได้ ก็ควรจะทำ หลานสาวเจเนอเรชั่นที่ 3 จึงนำคำสอนของอากงมาเป็นตัวตั้ง และมองว่าการสู้กับโรงแรมหรูในย่านเดียวกันไม่ใช่การแข่งกันที่วัตถุ ความหรูหรา และการออกแบบ เพราะเธอรู้ดีว่านั่นไม่ใช่ตัวตนของครอบครัว

Sustainable Boutique Hotel คือคำที่หนิงเลือกและนำมาสื่อสารกับพนักงาน เพื่อให้ทุกคนมองเป้าหมายในการทำงานว่าจะร่วมสร้างโรงแรมที่ยั่งยืน เธอเริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม เลือกใช้ผลิตภัณฑ์และอาหารออร์แกนิก มีแนวคิดในการสนับสนุนชุมชนเพื่อกระจายรายได้ เลยรวมไปถึงจิ๊กซอว์ ‘ยั่งยืน’ อีกหลายต่อหลายชิ้นที่หนิงนำเข้ามาปรับใช้ ทุกอย่างฟังดูเข้าที แต่กลับกลายเป็นว่า จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้นไม่สามารถต่อเป็นภาพเดียวกันได้ เพราะคำว่า Sustainabilty Hotel เป็นภาพใหญ่ที่โรงแรมในเมืองซึ่งมีข้อจำกัดมากมาย ยากที่จะสร้างให้เกิดขึ้นจริง ทำได้ต่อเนื่อง และยั่งยืนได้ตามคำ อีกทั้งยังกลายเป็นกรอบจำกัดให้เธอไปไม่ได้ไกลกว่าภาพจำที่เคยมีมา
“พอเราไปยึดติดกับคำว่า Sustainable Boutique Hotel ไม่ว่าจะในแง่ของการตกแต่งภายใน ตัวโลโก้ที่จะเปลี่ยน มันก็ติดกับวังวนเดิมๆ ที่ต้องเป็นสีเขียว ต้องดูเป็นธรรมชาติ มีต้นไม้ ซึ่งเรามองว่ามัน Stereotype มาก จนเราระเบิดจากข้างใน รื้อจิ๊กซอว์ที่เราเคยต่อออกหมดเลย แล้วก็มาถามตัวเอง มารู้จักตนใหม่ สุดท้ายก็เลยมาจบที่เราจะเป็นโรงแรมแห่งความสุข”

ความสุขที่เกิดจากการรู้จักประมาณตัวเอง
‘โรงแรมแห่งความสุขอย่างสมบูรณ์และการแบ่งปันอย่างยั่งยืน’ คือผลลัพธ์ที่ได้จากการนั่งลงประมาณตัวเองและทำให้หนิงเห็นภาพโรงแรมของเธอไกลกว่าคอนเซปต์ที่เคยตั้งไว้ เป็นการต่อจิ๊กซอว์ทุกชิ้นที่มีอย่างพอดิบพอดี และแน่นอนว่าช่วยให้ศิวาเทลต่างจากโรงแรมหรูรายรอบได้ชัดเจน

“เรายึดหลักการทรงงาน 23 ประการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ข้อ 21 เป็นเรื่องการทำงานอย่างมีความสุข และนั่นคือเหตุผลที่ศิวาเทลทำ happy work place เรื่องรอยยิ้ม เรื่องน้ำใจ และจิตบริการ มันเป็นสิ่งที่ไปบอกให้ทำไม่ได้ แต่มันต้องออกมาจากข้างใน เพราะฉะนั้นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอันดับหนึ่งก็คือเรื่องความสุขของพนักงาน แล้วเราก็เชื่อว่าพนักงานจะได้ส่งต่อความสุขพวกนี้ผ่านบริการที่ดีไปให้ลูกค้า ขณะเดียวกัน เมื่อลูกค้ามาพักที่โรงแรม เราก็อยากให้เขารู้ว่าคุณมาเพื่อความสุขของตัวเอง แต่การมาพักผ่อนที่นี่ ในเวลาที่คุณกินอาหาร ไข่ที่คุณกินเป็นไข่ออร์แกนิกจากฟาร์มนี้นะ ผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้ไม่มีสารตกค้างและเป็นของแบรนด์ไทยแบรนด์นี้ ใช้แล้วติดใจก็ซื้อกลับไปได้ เพราะฉะนั้นในช่วงที่เขามีความสุข มันก็มีเรื่องราวความสุขของคนอื่น ของชุมชนที่เชื่อมโยงกับตัวเขา และในเรื่องสิ่งแวดล้อม การที่คุณมาที่นี่ ก็ได้มีส่วนช่วยในการลดขยะ เพราะน้ำในห้องพักเราเป็นขวดแก้ว เราไม่มีหลอดให้ แต่นั่นคือคุณมีส่วนร่วมที่ช่วยให้เราลดขยะประเภทหลอดไปประมาณ 6 หมื่นชิ้นต่อปี เราอยากให้ลูกค้าที่มาพักกลับไปมีแรงบันดาลใจว่าเขาเริ่มทำอะไรบางอย่างได้ที่ดีกับโลกได้ถ้าตั้งใจจะทำ

“แล้วพอเปลี่ยนเป็นคำนี้ โรงแรมมันดูมีชีวิต ความสัมพันธ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เรามองว่าศิวาเทลคือบ้านของพวกเราทุกคน และลูกค้าคือเพื่อนจากต่างแดนที่มาพัก เป็นเพื่อนที่เราให้เกียรติเขา ถ้าลูกค้าต้องการการบริการระดับ 6 ดาว มาแล้วได้รับการดูแลเป็นคุณท่าน นั่นไม่ใช่เรา ถ้ามาศิวาเทล คุณจะได้รับการดูแลเหมือนเพื่อนของครอบครัว เราใส่ใจในทุกรายละเอียดของคุณ อย่างล่าสุดมีลูกค้าฝรั่งมาพักคนเดียว เขาชอบเตะฟุตบอลเลยอยากหาสนาม ทีมโรงแรมที่รวมกันไปเตะฟุตบอลวันนั้นก็เลยชวนเขาไปด้วยกัน หรืออย่างในเว็บไซต์โรงแรมก็ให้ข้อมูลเรื่องท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น ให้ลูกค้ามีไอเดียว่ามากรุงเทพฯ แล้วจะไปทำอะไรได้อีกแบบที่คนท้องถิ่นไป”
นั่นคือตัวอย่างความสุขที่ศิวาเทลมอบให้และได้รับจากการเป็นโรงแรมแห่งความสุขอย่างสมบูรณ์และการแบ่งปันอย่างยั่งยืน
ปลายน้ำที่นำไปสู่ความยั่งยืน
หนิงเล่าว่าได้แรงบันดาลใจการจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืนในฐานะปลายน้ำจากไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย เธอบอกว่าโรงแรมคือต้นตอของการบริโภคที่มากล้น และการผลิตขยะจำนวนมหาศาล หากโรงแรมพร้อมใจกันจัดการปัญหานี้ การเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ย่อมเกิดขึ้น

“ศิวาเทลใช้ไข่ไก่เดือนละ 9,000 ฟอง เพราะอยากให้ลูกค้าได้กินของที่ปลอดภัย และถ้าเราเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรอินทรีย์ได้โดยตรง B2B คือคำตอบที่ยั่งยืนเพราะเราสั่งผลิตผลในปริมาณมากและสม่ำเสมอ หรืออย่างเรื่องขยะ เราผลิตขยะในปี 2017 ประมาณ 11,000 ถึง 12,000 กิโลกรัมต่อเดือน เราเลยเปลี่ยนพวกของใช้ในห้องน้ำมาใช้ขวดเซรามิกแล้วเติมเอา เปลี่ยนขวดน้ำในโรงแรมเป็นขวดแก้ว ทำธนาคารขยะ รวมถึงทดลองเลี้ยงหนอนแมลงวันลายที่เป็นอาหารของไก่ในฟาร์มไข่เพราะหนอนพวกนี้กินขยะเศษอาหาร ซึ่งก็ไปได้ดี เจ้าของฟาร์มพอมาส่งไข่ให้เราก็เอาหนอนและปุ๋ยกลับไป ตอนนี้เราลดขยะจากโรงแรมไปได้ประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว มีขยะเหลืออยู่ที่ประมาณ 6,500 กิโลกรัม”

และที่งดงามมากไปกว่านั้น นอกจากการอุดหนุนและเชื่อมโยงกันระหว่างโรงแรมและเกษตรกรไม่ว่าจะเป็นผักอินทรีย์ ไข่ไก่ออร์แกนิก หรือกาแฟจากเชียงดาว การเชื่อมโยงกันและกันของกลุ่มธุรกิจที่มองไปในทางเดียวกันก็สร้างพลังที่น่าสนใจ
“เราไม่ได้มองคนที่เราซื้อของเป็นซัพพลายเออร์ แต่เป็นเพื่อนที่เติบโตเรียนรู้ไปด้วยกัน ซึ่งสุดท้ายมันก็เกิดการเชื่อมโยงกันหมด น้องแอปเปิ้ลที่ไร่รื่นรมย์สนใจไข่อินทรีย์ที่ลพบุรี เดี๋ยวหนิงก็จะนัดให้เขาเจอกัน หรือคนที่มาพัฒนาเรื่องการเลี้ยงหนอนกับเรา เขาเอาหนอนกลับไปเลี้ยงไก่เขา ปุ๋ยจากขี้หนอนก็เอาไปปลูกข้าวโพดหวานออร์แกนิกเลี้ยงไก่ของเขา ล่าสุด เราจะส่งเปลือกไข่กลับไปให้เป็นส่วนผสมในการทำอาหารไก่ด้วย เพราะไก่ต้องการแคลเซียม เราก็ลดขยะเปลือกไข่ไปได้อีก หนิงก็จะเชื่อมโยงกับลุงรีย์ให้ลองศึกษาเรื่องนี้ต่อ เราอยากเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน ถ้าเรารู้ว่าเราไม่ได้เดินไปคนเดียว แต่มีเพื่อนพร้อมสนับสนุนเป็นกำลังใจให้กัน มันก็น่าจะอุ่นใจกว่าและน่าจะยั่งยืนไปด้วยกัน”
มากไปกว่านั้น หนิงยังมุ่งหวังให้โรงแรมของเธอเป็นปลายน้ำที่โรงแรมอื่นมาศึกษาและร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน
“เราอยากเห็นศิวาเทลเป็นโรงแรมต้นแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงกับภาคเกษตร การลดขยะ หรือแม้แต่การทำ Happy Workplace เราบอกเสมอว่าใครอยากมาดูงานที่ศิวาเทล เรายินดี ไม่ได้มองเป็นคู่แข่ง อย่างที่บอกว่าศิวาเทลเป็นโรงแรมแห่งความสุขอย่างสมบูรณ์และการแบ่งปันอย่างยั่งยืน เราอยากเห็นผู้คนมีความสุข แล้วก็ส่งต่อความสุขพวกนี้ให้กับคนอื่น เราเชื่อในพลังเล็กๆ เชื่อในการลุกขึ้นมาทำดี ซึ่งถ้าหลายคนทำด้วยกันมันก็จะเกิดพลังได้”
โรงแรมแห่งความสุขและการแบ่งปันที่พอแล้วดี
จากที่เคยตอบไม่ได้ว่าความยั่งยืนของศิวาเทลคืออะไร แต่เมื่อเธอได้รู้ว่าตัวตนของแบรนด์คืออะไร นอกจากทางที่ก้าวไปจะชัดเจนและทำได้จริง การสื่อสารออกไปที่เคยมองว่ายากเย็นก็ง่ายดายและจับต้องได้ในทุกๆ แง่มุม
“โรงแรมส่วนใหญ่แข่งกันที่ราคาใช่มั้ย แต่เรามองว่าไม่ได้อยากแข่งขันกับใคร ซึ่งเมื่อเรามีคุณค่าที่ชัดเจน เราก็จะเริ่มสื่อสารออกไปให้คนรู้ว่าคุณค่าของศิวาเทลคืออะไร การที่คุณมาที่นี่ คุณไม่ได้มีความสุขแค่ตัวคุณนะ แต่คุณสนับสนุนชุมชน สนับสนุนเกษตรอินทรีย์ และมีส่วนช่วยให้สิ่งแวดล้อมมันดีขึ้น บวกกับประสบการณ์ที่ได้รับการบริการที่ดีจากพนักงานที่มีความสุขซึ่งเอาใจใส่คุณในทุกรายละเอียด สุดท้ายมันคือความแตกต่างที่ลูกค้าจะรับรู้ได้ และมองเราเหนือเรื่องราคา
“แล้วพอมีแกนในการทำงานที่ชัดเจน ไม่ว่าเราเจอปัญหาหรืออุปสรรคหรือเจออะไรที่ต้องตัดสินใจ เรานำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาถามได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ว่าอันนี้อยู่ในแก่นของแบรนด์เราหรือเปล่า เหตุผลที่เราจะทำคืออะไร ทำไปแล้วมันเข้ากับตัวเราหรือจะยั่งยืนไหม พอมาถามตามหลักพวกนี้ เราก็จะได้คำตอบในการทำงานเสมอ ทำให้เราเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่า มีความหมาย ทำให้ลูกค้าที่ใช่เท่านั้นที่จะเข้ามาหาเรา”
“การทำธุรกิจแบบพอแล้วดีคือไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองและกำไรสูงสุด แต่เป็นการทำธุรกิจที่เราได้ทำงานอย่างมีความสุข มีความหมาย ขณะเดียวกันก็ได้มีส่วนเกื้อกูลคนอื่นและนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้วย”