เพราะสวนแห่งนี้ เกี่ยวข้องกับความรู้ และความรัก
‘สวนสามไท’ คือชื่อสวนในสุพรรณบุรีที่รับบทเป็นทั้งพื้นที่สร้างความมั่นคงทางอาหารและพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ปลูก-ปั้นโดย แสน-พรชัย แสนชัยชนะ อดีตหนุ่มนักโฆษณามือรางวัลที่ผันตัวมาอยู่กับธรรมชาติเป็นงานหลัก ทดลองทำเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และชวนลูกเล่นและเรียนรู้ไปกับธรรมชาติ และเมื่อเห็นพัฒนาการของลูกๆ ที่เปลี่ยนไปในทางสร้างสรรค์ เขาก็ริเริ่มความฝันที่จะสร้างสวนแห่งนี้เป็นที่เรียนรู้ให้กับเด็ก (ไปจนถึงผู้ใหญ่) คนอื่นๆ ด้วย

แต่หลายบรรทัดก่อนหน้ายังไม่ใช่บทสรุปของสวนแห่งนี้ และการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดการความฝันระหว่างทางของสวนสามไท มีหลายเรื่องที่น่าสนใจทั้งในวิธีคิดและวิธีทำ ซึ่งจะอยู่ในหลายบรรทัดถัดจากนี้
เพราะสวนแห่งนี้ เกี่ยวข้องกับความรู้ และความรัก

สวนในฝันที่ยังฝันไม่สุด
แสนคือหนุ่มนักโฆษณาที่มีความเชื่อส่วนตัวว่าคนเราควรทำอะไรอย่างจริงจังทีละอย่าง เขาจึงตั้งใจว่าเมื่อทุ่มเทให้งานโฆษณาถึงปีที่ 20 จะลาออกแม้ยังไม่แน่ชัดว่าจะทำอะไรต่อไป และในปีที่ 19 ของการทำงาน เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ก็ส่งคำตอบมาให้เขา

“ในปีที่ 19 น้ำท่วมบ้านจนชั้นล่างหายไป เราเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ถูกสอนมาว่าหาเงินเยอะๆ แล้วจะมั่นคง แต่เป็นครั้งแรกที่เราไปซูเปอร์มาร์เก็ตสาขาไหนก็ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีอาหาร เป็นครั้งแรกที่เราได้รู้ว่าการมีเงินก็อาจไม่มีกิน ผมเลยศึกษาใหม่ว่าความมั่นคงที่แท้จริงคืออะไร เสิร์ชไปเรื่อยๆ ก็เจอข้อความขององค์การสหประชาชาติและคำว่าความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นคำฝรั่งที่ไม่มีคำไทยแปล แต่เมื่อไล่อ่านตำราฝรั่งเสร็จ เชื่อมไปเชื่อมมา มันกลับมาที่พระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 อ้าว! พระมหากษัตริย์เราตรัสมาก่อนตั้งกี่สิบปี ผมก็เลยมาศึกษาเรื่องความมั่นคงทางอาหารของพระองค์ และคิดว่าปีที่ 20 เป็นต้นไป ฉันจะศึกษาเรื่องนี้ จากนั้นผมก็ไปซื้อที่ดินและทำสวน แต่ผมไม่ได้อยากเป็นเกษตรกร เพราะเกษตรกรในความหมายของผมคือ ปลูกเพื่อขาย แต่ที่ผมทำคือยังชีพ”

แสนเริ่มต้นทำสวนสามไทโดยตั้งใจให้เป็นพื่นที่เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่ของรัชกาลที่ 9 มาใช้ ขณะเดียวกัน ก็ปลุกปั้นโปรเจกต์ดิจิทัลสตาร์ทอัพที่บริหารเวลากับการทำงานเองได้ และในระหว่างที่รอให้ต้นไม้เติบโต แสนเริ่มมองเห็นโอกาสที่จะใช้สวนของเขาเป็นที่เรียนรู้ของลูกไปพร้อมๆ กัน
“ผมจับลูกไปอยู่ต่างจังหวัดทุกเสาร์อาทิตย์ ไปเช้าเย็นกลับจนลูกชินกับการที่ไม่ต้องเข้าห้าง แล้วเราก็ค้นพบว่าพัฒนาการลูกเปลี่ยนไป เขาละเอียดกับสิ่งรอบข้างมากขึ้น ได้ยินเสียงนก สังเกตนกเป็น เพราะมันไม่มีอะไรให้ดูนอกจากสิ่งเหล่านี้” คนเป็นพ่อเล่าด้วยเสียงหัวเราะ “ผมสอนเขาในเรื่องต่างๆ เช่น ผมสอนเขาเรื่องความอดทน คนเมืองส่วนใหญ่ถ้าอยากได้ต้นไม้สักต้นก็ซื้อไม้ล้อมมาปลูกเลย แต่ผมเลือกปลูกต้นไม้ต้นเท่าคืบแล้วให้มันโต ซึ่งมันเร่งไม่ได้ เวลาเห็นว่าต้นไม้ใหญ่ที่คอนโดนั้นสวยจัง ลูกผมก็จะรู้เลยว่ามันไม่มีรากแก้ว มันไม่ยั่งยืนหรอก เขาเข้าใจธรรมชาติของมัน หรือเราอยากขุดบ่อเก็บน้ำ เราก็คำนวณขนาดด้วยวิชาฟิสิกส์ ลูกก็จะเริ่มรู้ว่า สิ่งที่เขาเรียนในเชิงวิชาการมันเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง”
เมื่อผู้คนรอบตัวเห็นว่าลูกของเขาเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่าเดิม หลายคนจึงฝากลูกมาให้เขาพาไปเรียนรู้ที่สวนบ้าง จนทำให้เขาขยับสเกลความฝันจากพื้นที่เพื่อความมั่นคงทางอาหารของครอบครัวและพื้นที่เรียนรู้ของลูก สู่พื้นที่เรียนรู้ของเด็กๆ อย่างไรก็ตาม แสนยังไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นธุรกิจได้จริงไหม เขาจึงเลือกเข้าร่วมโครงการพอแล้วดี The Creator โดยกำภาพสวนในฝันเอาไว้ในมือ ก่อนจะพบว่า การได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านแง่มุมทางธุรกิจ ทำให้ฝันที่ชัดเจนของเขา กระจ่างชัดและงดงามกว่าที่คาดไว้

รู้จักตัวเองให้พอดี แล้วไปให้ถึงแก่น
เมื่อแรกเริ่ม คอนเซ็ปต์สวนสามไทที่แสนหยิบยกมาอธิบายทุกคนคือ ‘ทุ่งเลี้ยงเด็กปลอดสาร’ ที่เชื่อว่าเด็กสามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ผ่านการวิ่งเล่นในธรรมชาติ “ภาพในหัวคือผมอยากทำสนามเด็กเล่น เป็น Kidzania เวอร์ชันธรรมชาติ คอนเซ็ปต์ปลอดสารในความหมายของผม คือปลอดความต้องการของคนเมืองที่อยากให้ลูกเป็น Super Kid ผมอ่านเรื่องพัฒนาการเด็กมาทั้งชีวิตเพื่อใช้ในการทำงานโฆษณาอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่า สิ่งที่ต้องทำก็แค่เพิ่มกระบวนการจัดการเด็กบนพื้นที่ขนาดยักษ์”

แต่อย่างที่บอก ภาพที่แสนจะชัดเจนของแสนกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด และเทรนเนอร์ออกปากว่าเขารู้จักตัวเอง ‘มากเกินไป’
“ข้อเสียของการรู้จักตัวเองมากเกินไปคือแคบ เราเข้าใจว่าตัวเองถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์และปิดรับ ทั้งที่จริงเราอาจรู้แค่ประมาณหนึ่ง คนทำงานโฆษณาอัตตาเยอะมาก ยิ่งคุณอยู่ในอุตสาหกรรมที่อัตตาเยอะมากแล้วดันประสบความสำเร็จ อัตตาคุณจะเยอะมากผิดปกติ คุณจะลุ่มหลงอยู่กับรางวัลตลอดชีวิต แต่ที่โครงการพอแล้วดี เราละลายความมากเกินไปได้ เพราะเขาทำให้เราเชื่อว่าเหนือฟ้ายังมีฟ้า” เจ้าของสวนและอดีตคนโฆษณาบอกเล่าด้วยเสียงหัวเราะ ก่อนจะบอกว่ายังมีแนวคิดและวิธีแก้ปัญหาอีกมากมายที่มากกว่าสิ่งที่เขาคิดได้และทำเป็น การเปิดใจยอมรับและให้โอกาสตัวเองปรับแต่งความฝันที่เคยวาดไว้ จึงให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจมากไปกว่าเดิม

ยอมรับด้วยรัก สานต่ออย่างเข้าใจ
ในทุกๆ การก่อร่างสร้างความฝันให้กลายเป็นความจริง แต่ละคนย่อมเจอกำแพงเป็นอุปสรรคขวางเอาไว้ และสำหรับแสน กำแพงที่เขาเจอและเลือกที่จะไม่ข้ามไป คือกำแพงของความรักที่มีต่อกษัตริย์นักพัฒนา
“ผมรักในหลวงรัชกาลที่ 9 และทำทุกอย่างในสวนด้วยทฤษฎีของพระองค์ท่าน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยบอกใครว่าผมทำ เพราะเวลารักใครมาก เราไม่อยากดึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการค้า ผมยังไม่บังคับลูกให้รักในหลวงรัชกาลที่ 9 เลย แต่จะบอกว่าทั้งหมดในสวนนี้ พ่อไม่ได้คิด พ่ออ่านตำราของพระองค์แล้วมาทำให้ดู ลูกผมก็จะเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นนักคิด ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และในเมื่อผมยังไม่บังคับลูกตัวเอง ทำไมต้องยัดเยียดให้ลูกคนอื่น จนพี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการบอกว่า คุณมาทำทั้งชีวิต คุณคือคนที่ควรพูดมากที่สุด เรานำความรู้ของพระองค์ท่านมาทำอย่างจริงจัง และไม่ได้จะมาหากินกับพระองค์ ทำไมคุณไม่ทำให้คนอื่นเข้าใจพระองค์ท่านอย่างถูกต้องแบบที่คุณเข้าใจล่ะ
“ในที่สุด ผมบอกกับทุกคนว่าผมจะทำ ‘ทุ่งเลี้ยงเด็กปลอดสารที่สร้างจากศาสตร์พระราชา’ และ เลือกที่จะถ่ายทอดบอกต่อกับคนอื่นแล้วว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เพราะผมคิดว่าการเข้าใจไม่ชัดเจน ปัญหาจะตามมาค่อนข้างเยอะ เช่น คนเข้าใจว่าความพอเพียงแปลว่าห้ามทำธุรกิจ ต้องออกต่างจังหวัด แต่ถ้าเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ชีวิตพอเพียงได้”
เจียระไนความฝัน ด้วยเหตุผลและภูมิคุ้มกัน
เมื่อซื่อสัตย์กับตัวเองได้ รู้จักตัวเองมากพอ แสนบอกว่าสิ่งที่ตามมาคือการรู้จักประมาณตนซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาคิดอย่างละเอียดลออ พร้อมวางโครงร่างอย่างมีเหตุมีผลและมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
“ผมเห็นแล้วว่าสวนสามไทจะเป็นสิ่งที่ผมอยู่ด้วยได้ทั้งชีวิต เรายังมีความสุข ยังอยากสอนคน อยากสอนเด็กให้ยอมรับธรรมชาติ แล้วมันก็ยังเลี้ยงชีพได้ด้วย ผมเชื่อว่าสวนสามไทเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มาก นอกจากกลุ่มคนเมืองที่อยากมาลูกมาอยู่ในธรรมชาติ สวนนี้ยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งผู้ใหญ่จำนวนมากที่อยากให้ลูกรักในหลวงเหมือนที่ตัวเองรัก ขณะเดียวกัน ผมก็คงต้องพัฒนาองค์ความรู้เพิ่มเติม และโตไปกับเพื่อนๆ ที่ร่วมโครงการ”
แสนบอกว่า การ Co-create กับเพื่อนๆ ในโครงการพอแล้วดี The Creator เป็นเรื่องใหญ่ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนไปด้วยกัน “สิ่งที่ผมมีเยอะที่สุดคือพื้นที่ ส่วนสิ่งที่ผมมีน้อยที่สุดคือเนื้อหา แต่สิ่งสำคัญของการเป็นโรงเรียนที่ดีคือต้องมีครูที่ดี ผมเป็นแค่เจ้าของพื้นที่และครูคนหนึ่งในนั้น ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะฉะนั้น เพื่อนในรุ่นผมมีเจ้าของธุรกิจมากมาย wear me natural ที่เก่งเรื่องทำสีธรรมชาติ ผมก็อาจชวนเขามาสอนศิลปะเด็ก หรือชวนลุงรีย์จากฟาร์มลุงรีย์มาสอนเรื่องไส้เดือนก็ได้ ถ้ามองในแง่ธุรกิจก็อาจจะเรียกว่าแชร์ฐานลูกค้า ซึ่งผมว่ามันจะดีและยั่งยืนต่อทุกคน”
และที่มากไปกว่านั้น เขายังไม่ลืมว่า นอกจากถ่ายทอดศาสตร์พระราชาให้กับเด็กๆ แล้ว การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ใหญ่จำนวนมากที่ยังเข้าใจปรัชญาของพระองค์คลาดเคลื่อน
“ในวันธรรมดาผมก็ยังคงสอนเกษตรกรในพื้นที่เหมือนเดิม เป็นเกษตรกรที่บาดเจ็บจากเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ยังไม่เข้าใจว่าเกษตรตามทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยชีวิตเขาได้อย่างไร เขาก็ได้ใช้พื้นที่ผมเป็นพื้นที่ต้นแบบว่าทำยังไงให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ และอีกกลุ่มหนึ่งคือคนแนวฉันอยากเป็นชาวนา เบื่อเมืองแล้ว อยากใช้ชีวิตช้าๆ กลับบ้านไปทำเกษตรสายชิลล์ ผมก็จะพาเขามาเรียนรู้ว่านี่คือความจริง ถ้าคุณยังโอเคอยู่ ผมก็จะบอกคุณว่าทำยังไงให้มันมีประสิทธิภาพ แต่ถ้าคุณต้องการแค่ unplug ชั่วคราว คุณมานั่งเล่นในสวนผมเถอะ ประหยัดต้นทุนกว่าเยอะ และไม่ต้องเหนื่อยขนาดนั้น”
เพราะที่สุดแล้ว เราทั้งหลายต่างนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตได้แม้จะไม่ต้องจับจอบขุดดิน แค่เพียงเข้าใจคำว่าพอแล้วดีอย่างถูกต้องและนำไปปรับใช้ให้ถูกเหลี่ยมมุม
“คนส่วนใหญ่มักบอกว่ารักในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ถ้าพูดแล้วไม่ศึกษาความรู้ของพระองค์ท่าน ไม่เอาไปทำต่อ ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเชื่อว่าการกระทำจะทำให้พระองค์ทรงเป็นอมตะ”