คุณชารี บุญญวินิจ

ภาพของเกษตรกรในเมืองเปลี่ยนที่ดินไม่กี่ตารางวาให้กลายเป็นฟาร์มสุดเท่ หน้าตาของแบรนด์ที่มีลูกเล่นเกี่ยวกับไส้เดือนชวนให้จดจำ ความถี่ในการออกสื่อซ้ำๆ ตลอดหลายปี บวกรวมกับกระแสออร์แกนิกที่ช่วยต่อยอดให้แบรนด์ได้ทำอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา นั่นอาจทำให้ใครๆ มองว่า ฟาร์มลุงรีย์ คือโมเดลที่ประสบความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิจ ชายหนุ่มผู้ปลุกปั้นฟาร์มแห่งนี้ สมควรเป็นเจ้าของรอยยิ้มที่ภูมิใจในความเก่งกาจของตัวเอง

ใช่, จนกระทั่งเขาถูกถามว่า “คุณเคยนึกถึงไส้เดือนของคุณไหม”

“ผมหากินกับไส้เดือน พูดได้ว่าไส้เดือนส่งเรียนปริญญาโท ไส้เดือนให้ทุนมาปรับปรุงฟาร์ม แต่ผมก็ลืมไส้เดือน ลืมเพราะคิดว่าตัวเราเก่งไง ลืมเพราะคิดว่าเราทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ ลืมจนกว่าจะมีใครมาสะกิด”

เขายอมรับว่า แม้จะทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนมากว่า 5 ปี แต่กลับรู้สึกเคอะเขินทุกครั้งที่บอกใครๆ ว่าเขาเป็นนักเลี้ยงไส้เดือน แต่หลังจากคำถามข้อนั้นที่เปิดให้เขา ‘เห็นแจ้ง’ ในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ วันนี้ เขาสามารถตอบทุกคนอย่างภาคภูมิใจ ว่าไส้เดือนคือเครื่องจักรชีวภาพที่สร้างคุณค่าให้ผืนแผ่นดิน และเขาจะเป็นคนที่จะพาไส้เดือนไปสร้างคุณค่าให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่คือเรื่องราวก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงของเขา

คำถามบนความไม่พอ

ปี 2013 ชารีย์เริ่มต้นสร้างฟาร์มลุงรีย์เมื่ออายุ 25 ปี และจัดหมวดฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนในที่จอดรถไว้ในฐานะงานอดิเรกที่เขาได้สนุกไปกับการทดลองใช้ไส้เดือนมาทำขยะให้กลายเป็นปุ๋ย แต่ด้วยความที่จบด้านการออกแบบ เปิดโรงเรียนสอนศิลปะ เขาจึงหยิบทักษะด้านดีไซน์มาเล่าเรื่องไส้เดือนที่คนส่วนใหญ่เกลียดกลัวให้ดูเป็นมิตรมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการเปลี่ยนภาพเกษตรกรในเสื้อม่อฮ่อม ให้กลายเป็นเด็กหนุ่มนุ่งยีนส์ลุคเท่ เขาบอกว่าเป้าหมายในตอนนั้น คือทำเกษตรให้มีดีไซน์

หมัดแรกที่ปล่อยออกไปได้ผลไม่น้อย แนวคิดของเขามีคนให้ความสนใจและต่อยอดไปสู่อะไรต่อมิอะไรมากมาย ไส้เดือนพาเขาไปเจอเพื่อนฝูงและการทำมาค้าขายที่ได้ทั้งกล่อง ได้ทั้งเงิน “มันสะใจน่ะครับ” ชารีย์เล่าถึงวันวัยนั้นด้วยเสียงหัวเราะ “เมื่อเราคิดว่าเป็นงานอดิเรก ก็เลยทำเหมือนไอ้หนุ่มหมัดเมา ยิงไปสิบ ติดหนึ่งก็โอเคแล้ว วิธีการของเราเลยโฉ่งฉ่าง ไปที่นู่นที่นี่ อยากทำอะไรก็ทำเลย จากที่ผลผลิตของเรามีแค่ปุ๋ย น้ำหมัก และตัวไส้เดือน เมื่อเราไปเชื่อมกับคนอื่นได้ เกษตรกรต้องการปุ๋ยเราไปปลูกผัก ต้องการน้ำหมักไปบำบัดน้ำ อยากได้ไส้เดือนไปเป็นอาหารสัตว์ พอเชื่อมกับเกษตรกรหลาย ๆ คนทั่วประเทศ เกิดกลุ่ม Thailand Young Farmer ขึ้นมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน มันก็ยิ่งทำให้เราเก่งเร็วขึ้นเยอะ”

แต่รู้ตัวอีกที หนุ่มเจ้าโปรเจกต์ก็เลือกมาทำฟาร์มเต็มตัวและแบกทุกอย่างเอาไว้ นอกจากไส้เดือนจุดขาย เขายังลงแรงไปกับเป้าหมายใหม่ๆ ทั้งกุ้งเครย์ฟิช สตรอว์เบอร์รี่ อะโวคาโด เสาวรส เห็ดหิมาลัย ฯลฯ ไปจนถึงงานสอน งานวิทยากร งานที่ปรึกษา หรือกระทั่งเป็นพ่อค้าขายวัตถุดิบทางการเกษตร

“ผมรู้ว่าผมอยู่ได้ ธุรกิจก็กำลังไปได้ด้วยดี คิดแค่ว่ามันต้องมีวิธีรอดต่อไปแหละครับ แต่เราไม่รู้หรอกว่าเราทำอะไรได้ดี มันก็แค่คนทำหลายอย่าง แล้วมันต้องมากไปถึงเมื่อไหร่ถึงจะพอ รับทุกอย่าง ทำทุกงาน และรู้สึกว่าเราไม่มีสิ่งใหม่ไม่ได้ แต่สิ่งใหม่มันก็หวือหวาและต้องใช้เงินทั้งนั้น มันเหนื่อยเกินไปด้วยกำลังคนคนเดียว”

ถ่อมตนทำ สำคัญตนถูก

หลังคำถามที่ชวนให้เขาคิดถึงเพื่อนที่ร่วมทางมาตลอดอย่างไส้เดือน และทิศทางที่เขาจะเดินต่อไป จากที่เคยยืดอกมั่นใจว่าฉันทำได้ทุกอย่าง ก็เปลี่ยนเป็นความถ่อมตนที่รู้ตัวว่าควรทำอะไร และจะทำอย่างไรให้เต็มศักยภาพที่มี

เมื่อคิดใคร่ครวญ ลุงรีย์บอกว่าชีวิตของเขาผูกพันอยู่กับดิน ไล่ตั้งแต่ดินในโรงปั้นตอนเรียนเซรามิกที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มาจนถึงดินที่ได้ไส้เดือนเป็นพันธมิตรในการช่วยปรับและปรุงจนเกิดเป็นดินที่ดี แต่เขาก็ยอมรับว่ายังต้องศึกษาอีกมาก ยิ่งได้ศึกษาพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นปราชญ์แห่งดิน เขาก็ยิ่งพบว่าตัวเองเล็กลง เล็กลงเรื่อยๆ เพราะยังมีสิ่งที่เขาไม่รู้อีกมากมาย

“เรารู้ว่าคนไหว้พระเจ้าอยู่หัว แต่เราไม่รู้ว่าเอาขึ้นไว้บนหิ้งหรือแปะไว้หลังรถทำไม นับถือด้วยการเชื่อต่อๆ ตามกันมา ไม่ได้ประจักษ์ ไม่ได้รู้ว่าท่านทำอะไร ทรงงานหนักขนาดไหนเพราะเราเกิดไม่ทัน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสามห่วงสองเงื่อนไขคืออะไรกันแน่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรพูดเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบพอเพียง ก็รู้ว่าประมาณนี้แหละ แต่ไม่ได้รู้แจ้ง

“จนได้มาเรียนรู้จริงๆ ในโครงการว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร เมื่อเรารู้แล้วว่ามันวิเศษขนาดนี้ เราไม่ต้องใช้กรอบความคิดหรือทฤษฎีของนักปราชญ์ที่ไหนในโลกแล้ว เพราะสิ่งนี้เข้าใจง่ายสุดๆ มีแค่ไม่กี่วงเอง รู้จักตน มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน แต่สามารถเอาไปปรับใช้ได้กับทุกอย่าง ผมรู้แล้วว่าเราจะเป็นนักสร้างคุณค่าให้กับผืนดิน อะไรก็ตามที่มันก่อให้เกิดประโยชน์กับผืนดิน ผมจะทำ”

ชารีย์บอกว่า การทำเกษตรเคมีในปัจจุบันล้วนแล้วแต่เป็นวิธีที่ย่ำยีดิน ในขณะที่หัวใจสำคัญของการทำเกษตรอินทรีย์คือการฟื้นฟูดินและสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กลับคืนมา แผนธุรกิจต่อจากนี้ของฟาร์มลุงรีย์จึงจะโฟกัสไปที่การฟื้นฟูดินจากประโยชน์ของไส้เดือน และสร้างมูลค่าจากแก่นแกนเดียวกัน

มองให้ชัด พอให้เป็น เดินต่อไปให้ตรง

ชารีย์บอกว่า เมื่อทุกอย่างชัด เขาก็สามารถทำงานที่รักด้วยพนักงานแค่ไม่กี่คน จากเมื่อก่อนที่เปิดฟาร์มให้คนเยี่ยมชมหนึ่งครั้งต้องเตรียมพนักงานไว้ช่วยกว่าสิบชีวิต แต่เมื่อถอยมามองภาพใหญ่ เปลี่ยนวิธีคิดที่เคยมี และออกแบบการเดินชมฟาร์มใหม่ให้ดูแลง่ายขึ้น จากที่เคยเปิดฟาร์มให้เยี่ยมชมฟรี และสร้างรายได้จากการขายผลผลิตในฟาร์ม รวมถึงการสร้างเงื่อนไขให้คนมานำขยะมาแลกกัน เพื่อลดภาระในการหาอาหารให้ไส้เดือน รวมไปถึงการทำ Business Model อย่างจริงจัง เพื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาไม่ใช่คนทุกคนเหมือนที่แล้วมา

“ข้อเสียของผมอีกอย่างหนึ่งเลยคือชอบทำเรื่องชาวบ้าน แต่จะปรับอย่างไรให้การชอบทำเรื่องคนอื่นเป็น Business Model เราก็ออกแบบเงื่อนไขให้ชัด ทำอย่างไรให้กลุ่มธุรกิจเห็ดโต มูลไส้เดือนก็โตด้วย ธุรกิจผักอินทรีย์ดี มูลไส้เดือนก็ดีด้วย สร้างภูมิคุ้มกันมาดูแลไส้เดือนของตัวเอง ผมรู้แล้วว่าไม่ต้องเก่งทุกเรื่องบนโลกก็ได้ เมื่อก่อนมีสมุดจดเป็นร้อยเล่มเขียนสิ่งที่อยากทำไว้ เกิดอีกสามชาติยังทำไม่หมดเลย แต่วันนี้ผมหยิบมาเคลียร์ อันนี้ไม่ตรงกับสิ่งที่วางไว้ก็ทิ้งไป ทำน้อยได้มาก และได้ความสุขมากขึ้น

“แบรนด์เป็นสิ่งมีชีวิต ผมจึงค่อยๆ ปรับไป ปรับทั้งตัวเอง ปรับทั้งสถานที่ ปรับทั้งคนในฟาร์ม เมื่อเรารู้แล้วว่าเราอยากเจอลูกค้าแบบไหน เราก็ปรับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ปรับพาร์ตเนอร์ที่เคยมี จนทุกวันนี้ก็ไม่เหนื่อยอย่างเมื่อก่อนแล้ว”

ธุรกิจที่พอแล้วดีสำหรับผม คือธุรกิจที่ตั้งอยู่ในความไม่โลภ แต่ไม่เบียดเบียนตัวเอง เรามักไม่รู้จักคำว่าเบียดเบียนตัวเอง นอนดึกไง ทำโอทีไง เสียสละให้เพื่อนมากเกินไปจนตัวเองเดือดร้อนไง แล้วก็ทุกข์ไง เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่ดีคือธุรกิจที่เหมาะกับคนคนนั้น โดยที่ไม่โลภ แล้วก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง”

เอาโลกตั้ง เอาตัวเราตาม

ชารีย์เคยคิดคำเล่นๆ ตามประสานักออกแบบว่า Form Follows Farm แต่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันควรจะหมายความว่าอย่างไร แต่เมื่อคำว่า ‘The Earth Creator’ คือเข็มทิศของแบรนด์ สิ่งที่ตามมาคือความเชื่อมั่นและหนักแน่นในสิ่งที่ตัวเองกำลังจะเดินตามไป จากที่เคยประหม่าทุกครั้งที่ต้องพูดถึงสิ่งที่ตัวเองทำเพราะรู้ว่ามันมีรูรั่วมากมาย แต่ในวันนี้ เขาพร้อมแล้วที่จะสื่อสารแก่นแกนนี้และส่งต่อสิ่งที่ได้ ‘เห็นแจ้ง’ จากหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

หลักปรัชญาที่เขาไม่ได้จำมา แต่เข้าใจและได้ลงมือทำ

“ ในธุรกิจนี้ ไส้เดือนเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เหมือนปิดทองหลังพระตามแนวการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่งานของเราคือการไปเอาด้านหลังมาวางไว้ข้างหน้า ทำให้คนเห็นประโยชน์ของไส้เดือน ”