หลายคนอาจมองว่าธุรกิจกวดวิชาคือสิ่งที่สร้างผลกำไรได้สูง และมีศักยภาพช่วยให้เด็กมีความรู้เพื่อแข่งขันขึ้นสู่ยอดพีระมิดการศึกษา แต่ Up Skill Center ของครูเช-สมพล มีพ่วง กลับต่างออกไป เพราะก่อตั้งขึ้นโดยมีหัวใจหลักคือการแบ่งปัน ทั้งในแง่ของการไม่หวังเพียงทำกำไรสูงสุด และในแง่ความตั้งใจที่อยากให้เด็กๆ ได้ส่งต่อความรู้เพื่อสร้างคุณค่าของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การมุ่งมั่นทำธุรกิจโดยใช้เพียงความตั้งใจนำทางกลับทำให้เขาห่างไกลจากจุดสมดุล และหลายครั้งมีคำว่า ‘ขาดทุน’ เป็นบทสรุปการกระทำ

“วิธีคิดของผมก่อนหน้านี้ที่เราคิดว่ามันถูกต้อง คือเราบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องรวย เราต้องช่วยคน เราต้องช่วยเด็ก จนถูกถามว่า สรุปครูเชทำธุรกิจหรือทำมูลนิธิ”
การได้พบวิธีคิดแบบ ‘พอแล้วดี’ จึงเปรียบเหมือนการค้นพบเครื่องมือที่ช่วยให้ครูเชมองเห็นทางไปสู่โรงเรียนที่แบ่งปันได้อย่างยั่งยืน และด้านล่างนี้คือบันทึกการเดินทางสู่การค้นพบเครื่องมือสำคัญชิ้นดังกล่าว

โรงเรียนที่ให้เกินพอดี
อดีตบัณฑิตจบใหม่สายวิทยาศาสตร์ที่อกหักจากความฝันที่จะช่วยโลก เพราะการทำงานในฐานะนักวิจัยเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่มีพลังพอจะสู้กับกลุ่มทุนที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ทุกวัน เขาจึงกำความฝันที่อยากทำเพื่อสังคมไปชิมลางเป็นครูติววิทยาศาสตร์ให้เด็กๆ ตามโรงเรียน ด้วยทักษะติดตัวด้านการพูดในที่สาธารณะ มีลูกเล่นและวิธีสนุกๆ ให้เด็กจดจำและเข้าใจบทเรียนได้ง่ายขึ้น ทำให้เขาได้ใจเด็กๆ และถูกเรียกว่า ‘ครูเช’ ในที่สุด
เมื่อผลตอบรับกลับมาค่อนข้างดี ทำให้เขาพบว่าการสอนคือการสร้างคน สร้างอนาคตของชาติ และน่าจะเป็นทางหนึ่งที่เขาสามารถจะให้สังคมได้ ครูเชจึงเริ่มต้นสร้าง Up Skill Center ในรูปของบริษัทรับติววิชาวิทยาศาสตร์ตามโรงเรียนต่างๆ รูปแบบคือการรับงานผ่านโรงเรียนและนำติวเตอร์เข้าไปสอน รวมทั้งเปิดโรงเรียนกวดวิชาที่กรุงเทพฯ และอำเภอเล็กๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิดของครูเชอีก 1 สาขา ซึ่งเด็กๆ สามารถสมัครเข้ามาเรียนได้ในรูปแบบของโรงเรียนกวดวิชาทั่วไป
แต่ฝันของครูเชใหญ่กว่านั้น เขามองภาพข้างหน้าของ Up Skill Center ในฐานะสถาบันวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยติวเตอร์ที่เก่งกาจ ส่งต่อความรู้ออกไปให้เด็กจำนวนมากและสร้างการเปลี่ยนแปลงเด่นชัด ขณะเดียวกัน เขายังมุ่งมั่นที่จะเป็นสถาบันที่มอบโอกาสให้กับสังคมอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ครูหนุ่มจึงไม่รีรอที่จะแบ่งปันในทุกๆ ช่องทางที่มีโอกาส
“เวลาที่เราไปติวในโรงเรียนตามต่างจังหวัดที่ไม่ค่อยมีเงินนัก เราก็จะลดราคาให้ เช่น จากค่าตัวประมาณวันละ 15,000 ก็ลดเหลือ 9,000 บาทบ้าง 6,000 บาทบ้าง หรือเรารับงานติวทั้งโรงเรียนหนึ่งแสนบาท ก็จะปัน 10-20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคืนให้โรงเรียนนำไปเป็นทุนแก่เด็กที่เรียนดีแต่ยากจนและเป็นคนดี โดยผ่านการประเมินจากเราและโรงเรียน หรือในปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ผมก็ทำโครงการสอนฟรีถวายในหลวง 89 โรงเรียนทั่วประเทศ”
ในฐานะคนคนหนึ่ง สิ่งที่ครูเชทำนั้นน่าชื่นชม แต่ในฐานะเจ้าของธุรกิจ ความมุ่งมั่นทำประโยชน์ให้สังคมจนเกินกำลังทำให้ธุรกิจของครูเชซวนเซจากจุดความพอดีไปมากนัก
และที่น่ากลัวไปกว่านั้น ครูหนุ่มคนนี้เชื่อเต็มกำลังว่าเขากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง
โรงเรียนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ถามถึงเหตุผลของการให้ ครูเชบอกว่าเมื่อได้รับเชิญไปในฐานะธุรกิจเพื่อสังคมซึ่งจากการแบ่งปันที่เขาทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ครูเชตั้งเป้าและอยากจะเป็น Social Enterprise ขึ้นมาจริงๆ แต่ไม่ได้ศึกษาถึงกระบวนการ ยังคงดำเนินธุรกิจไปโดยมีความรักและความตั้งใจดีนำหน้า ไม่อยากถูกมองว่าหาเงินกับเด็ก หากินกับศิษย์ จึงยิ่งให้และให้จนไม่มีความพอดี
“คุณจะทำธุรกิจหรือทำมูลนิธิ” คือคำถามที่เปลี่ยนความเชื่อต่อการให้ของเขา เพราะหลังจากคลี่สิ่งที่เคยทำกับภาพที่อยากจะเป็น ทุกอย่างมันฟ้องว่าธุรกิจนี้น่าเป็นห่วง
“เราอยากช่วยคนให้ได้เยอะๆ เลยพยายามจะทำโรงเรียนให้เป็นสถาบันสอนวิทยาศาสตร์ซึ่งต้องใช้บุคลากรด้านนี้ค่อนข้างมาก เราอยากได้คนเก่งๆ เข้ามาทำงานให้เรา แต่ลืมอย่างหนึ่งไปว่า หลายคนเลือกมาเป็นติวเตอร์มักมองเรื่องรายได้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นถ้าจะหาทีมงานที่เจ๋งมาก เราก็ต้องมีเงินมากพอ แต่เราก็อยากลดค่าสอนเพราะอยากเข้าถึงเด็กได้มากขึ้น กลายเป็นว่าเรามีปัญหาทางการเงินเพราะต้องจ่ายมากกว่าเดิม ส่วนการลดค่าสอนให้โรงเรียน เราก็ไม่เคยรู้เลยว่าสามารถยื่นเป็นเงินบริจาคได้ในตอนทำภาษี หรือหลังจากไปสอนฟรี แม้เราจะตั้งใจจริงและคิดว่าจะทำทุกปีจนกว่าจะตายไป แต่โดยความจริงแล้วเราก็ทำไม่ได้ขนาดนั้น เพราะเราก็มีหน้าที่ต้องดูแลทีมงาน ดูแลบริษัทด้วย” ครูเชค่อยๆ บอกเล่าว่าภายใต้ความตั้งใจดี มีปัญหาซุกอยู่มากมาย และถึงเวลาแล้วที่เขาต้องยอมรับ
“เราต้องกลับมาทบทวนว่าสิ่งที่ทำมาตลอด สิ่งที่คิดว่าดี มันเป็นประโยชน์และมีคุณค่าจริงไหม เราส่งต่อคุณค่านี้ออกไปได้จริงไหม สิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้ก็คือ การช่วยคนอื่น เราต้องไม่เบียดเบียนตัวเอง ซึ่งตลอด 4 ปีที่ทำ Up Skill Center เราเบียดเบียนตัวเองมาตลอดโดยที่เราคิดว่าไหว แต่มันคือการขาดภูมิคุ้มกัน ถ้าธุรกิจเราเพลี่ยงพล้ำขึ้นมาคือตายเลย”

โรงเรียนที่มีความสมดุล
คล้ายกับสมการที่เขาสอน ครูเชแก้โจทย์ธุรกิจครั้งนี้โดยเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นตัวตั้ง ทั้งการกลับมารู้จักตัว ประมาณตนเสียใหม่ มีเหตุผลในการให้และรับมากขึ้น เลยรวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับการเดินต่อไปในอนาคต มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงิน งบดุล และตั้งค่าคุณธรรมที่เคยมีให้ไม่เอนเอียงจนเกินไป

และผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือความพอดี
ฝันใหญ่อย่างสถาบันสอนวิทยาศาสตร์ลดไซส์เป็นโรงเรียนกวดวิชาที่สัญญาว่าจะทำให้เด็กสนุกกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และรู้จักตัวเองมากขึ้น ส่วนเพื่อนร่วมงานที่เคยมองหาแต่หัวกะทิที่แสนเก่งกาจ ก็เปลี่ยนมาเป็นมองหาคุณครูที่มีอุดมการณ์ในการให้อย่างพอดีเช่นเดียวกัน นอกจากจะไม่ต้องจูนแนวคิดกันมากมาย ยังลดความเสี่ยงที่คุณครูค่าตัวสูงจะถูกซื้อตัวและอยู่พัฒนาเด็กด้วยกันได้ไม่นาน ที่สำคัญ ครูเชยังวางเงื่อนไขการให้เสียใหม่ที่เบียดเบียนตัวเองน้อยลง

“ตอนที่ผมทำโครงการสอนฟรีถวายในหลวง 89 โรงเรียนทั่วประเทศ ผมยิ่งได้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามันมีมากจริงๆ และมันเป็นภาพใหญ่ที่เราทำคนเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหาพันธมิตร ต้องหาเครือข่ายที่เราจะช่วยได้มากขึ้น เราขาดตรงไหน ต้องเติมเต็มตรงไหน ตอนที่ผมทำ ผมยอมขาดทุนเอง เพราะไม่อยากรับเงินช่วยเหลือจากคนอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดมาก” ครูเชหัวเราะให้กับตัวเองในอดีต ก่อนจะบอกว่าในวันที่รู้แล้วว่าความพอดีอยู่ตรงไหน เขาก็เลือกลดจำนวนโรงเรียนลง แต่มั่นคงว่าจะทำไปได้นานๆ โดยไม่หมดแรง (หรือหมดเงิน) ไปเสียก่อน

และสิ่งที่มากไปกว่าวิชาความรู้ เทคนิคช่วยจำ และความเข้าใจที่ครูเชจะมอบให้เด็กๆ ที่มาเรียน ครูเชยังตั้งใจว่า จะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสอนให้เด็กๆ เข้าใจและปรับใช้ในชีวิตช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเลือกเส้นทางใดๆ ในอนาคต เพราะเขารู้แล้วว่า สมการนี้สามารถตอบคำถามได้ในทุกบริบท
“ต้องเข้าใจว่าเด็กๆ เขาก็ไม่รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทำอะไรมา แต่สิ่งที่ผมอยากให้เขาเห็นและเข้าใจ คือสามห่วง สองเงื่อนไขนี้ ให้รู้จักตัวเองก่อน มีเหตุมีผลในการเลือกคณะที่คุณจะเลือกเรียน แล้วก็มีภูมิคุ้มกันคือมองอนาคตให้ออก มีแผนสำรอง มีวิธีที่จะเดินต่อไป”
ส่วนวิชาการให้และการแบ่งปัน ครูเชมองรูปแบบที่ทุกคนสามารถเติบโตไปด้วยกันบนความเกื้อกูล

“พอพูดคำว่ากวดวิชา ภาพของมันคือการแข่งขันที่มีผู้ชนะแค่คนเดียว แต่เด็กอีก 90 ว่าเปอร์เซ็นต์ไปไหนล่ะ ถ้าเราทำให้เด็กเก่งรู้จักแบ่งปันได้จะดีกว่าไหม รูปแบบที่ผมคิดคือเราจะสร้างแพลตฟอร์ม อาจเป็นกลุ่มในเฟซบุ๊กหรือไลน์ ที่จะเป็นศูนย์รวมความรู้ให้เด็กๆ ได้เข้ามา เด็กเก่งๆ ช่วยติวให้เพื่อน ได้ส่งต่อให้กับเพื่อนที่ยังไม่เก่ง เขาก็ได้พัฒนาตัวเอง ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ผมบอกเสมอว่า คุณต้องส่งต่อความรู้ที่คุณมีนะ ถ้าทำได้ มันจะเกิดเป็นเครือข่ายที่เกื้อกูลกัน”
มากไปกว่านั้น หลักการนี้ทำให้เขากลายเป็น ‘ผู้เลือก’ ทั้งเลือกรับงาน เลือกรับเด็กๆ เลือกรับความช่วยเหลือ และอย่างที่บอกไป ‘เลือกที่จะให้’ อย่างพอดี “ปกติ โรงเรียนกวดวิชาทั่วไปจะรับนักเรียน รับติวหมดเพราะมันเป็นเงิน แต่เราเลือกก่อน เพราะผมคิดว่าการเรียนพิเศษเป็นการเสริมเท่านั้น น้องๆ ควรจะต้องตั้งใจเรียนในห้องเรียนก่อน เด็กบางคนอยากเรียนหมดทุกวิชา เราก็ต้องประเมินก่อนว่าเขาจะเรียนไหวไหม หรือบางคนมาเรียนแบบไม่ตั้งใจ เราก็คืนเงินและบอกเหตุผลว่า เงินทุกบาทที่หนูจ่ายครูมา มันเป็นเงินที่พ่อแม่เหนื่อยมา เราอยากให้เขาตั้งใจเรียนจริงๆ ไม่ใช่เรียนเพราะแฟชั่น เพราะชอบครู เพราะตามเพื่อน เมื่อเด็กมีจำนวนที่พอดี คุณครูก็เข้าถึง ถ่ายทอดได้ดีกว่า”
Up Skill Center จึงเป็นบริษัทรับติวและโรงเรียนกวดวิชาที่ยังคงหัวใจแห่งการให้ดวงเดิมเอาไว้ แต่เป็นหัวใจที่เต้นในจังหวะพอดี
จังหวะที่จะทำให้ใจดวงนี้เต้นต่อไปอย่างยั่งยืน
“เมื่อเราอยู่ได้อย่างพอดีและแบ่งปันอย่างพอดี สังคมและประเทศก็จะยั่งยืนและมีความสุขเพิ่มขึ้น”