คุณพภัสสรณ์ จิรวราพันธ์

ไม่มีใครรู้จักเราดีเท่าตัวเราเอง และใครที่ไหนจะมาเข้าใจธุรกิจของเรา ได้มากไปกว่าเราผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ

ว่ากันตามเหตุผล มันก็ควรจะต้องเป็นอย่างนั้น แต่เชื่อไหมว่ามีคนอีกเป็นจำนวนมาก และธุรกิจอีกไม่รู้เท่าไหร่ที่ไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเอง wear me natural แบรนด์เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติของเปิ้ล พภัสสรณ์ จิรวราพันธ์ ก็เคยเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น เจ้าของแบรนด์สาวบอกว่าเธอผ่านการอบรมเชิงธุรกิจมามากมาย ทุกคอร์สบอกตรงกันว่าแบรนด์ของเธอไม่มี DNA ไร้อัตลักษณ์ และไม่มีอะไรต่างไปจากคู่แข่ง

ช่วงเวลากว่า 4 ปีในธุรกิจนี้จึงเป็นการเดินไปอย่างไม่มีทิศทาง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอย่างไร้แผนที่ จนกระทั่งได้พบกับคำตอบที่อยู่กับเธอมาตลอดตั้งแต่วันแรกก้าว

คำตอบที่ว่า คือธรรมชาติของความพอและความดี

คำตอบที่รอการระเบิดข้างใน

ชีวิตของพภัสสรณ์ในหนึ่งย่อหน้า, เธอคืออดีตแอร์โฮสเตสสาวที่เจ็บป่วยจากชีวิตการทำงาน แต่พอหนีมาเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ยังถูกออฟฟิศซินโดรมเล่นงานอย่างต่อเนื่อง เธอจึงเบนเข็มไปตามหาชีวิตที่ดีกว่า ผ่านการศึกษาแนวคิดและลงมือทำตามวิถีธรรมชาติบำบัด ปลูกข้าวปลูกผักกินเอง หลีกเลี่ยงเคมีในชีวิตประจำวัน    น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการกินอยู่ จนเมื่อได้รู้จักกับกลุ่มแม่บ้านย้อมผ้าสีธรรมชาติแห่งเมืองเชียงใหม่แล้วเกิดสนใจ จึงขอไปเรียนรู้และจับมือสัญญาใจให้เหล่าแม่ๆ ย้อมผ้าให้ พร้อมเริ่มต้นปลุกปั้นแบรนด์เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติ ออกแบบเอง คิดเอง ขายเอง บางเดือนขายดิบขายดี บางทีก็ไม่ได้ยอดตามหวัง ยิ่งหลายปีผ่าน คำถามก็ยิ่งพอกพูนในใจ เมื่อได้ยินว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนำมาปรับใช้กับธุรกิจได้ เธอย่อมไม่รีรอที่จะเข้ามาหาคำตอบ

แต่แค่บทเรียนแรกของการทำความเข้าใจ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เธอก็ได้พบกับคำถามเดิมๆ ที่ไม่เคยตอบได้ – ตัวตนของแบรนด์คืออะไรกันแน่?

“เราทำอะไร เราเป็นใคร ตัวตนของเราคืออะไร มันกดดันมาก เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่เคยตอบได้ พอถูกถามถูกเค้นหนักๆ เข้า มันเหมือนระเบิดจากข้างใน หนูชอบธรรมชาติ หนูไม่เคยหยดสีเคมี หนูไม่ต้องการปัก หนูไม่ต้องการดีไซเนอร์ จนพี่ๆ เทรนเนอร์บอกว่า ก็นี่ไง ที่ตอบออกมานั่นแหละดีเอ็นเอของเรา มันคือสิ่งที่เรามีแต่เราไม่เคยมองเห็นมัน” เปิ้ลบอกเล่าวินาทีที่คำตอบออกมาหลังการร้องไห้อย่างหนักเพียงเพราะถูกถามว่าทำไมถึงไม่รู้จักตัวเอง

“เราเชื่อในความเป็นธรรมชาติมาตลอด ทั้งการทำแบรนด์ทั้งการใช้ชีวิต แต่เรามัวไปมองคนอื่นที่ประสบความสำเร็จ มองบูทข้างๆ ที่มีคนต่อแถวซื้อ เราอยากเป็นแบบนั้นบ้าง ทำไมเราถึงขายไม่ดีเท่าเขาล่ะ เราก็เริ่มไปปักตามคนอื่น ไปทำตามเทรนด์ ไปเขวเพราะอยากเป็นอย่างเขา”

เมื่อไม่ต้องเป็นอย่างใคร อะไรๆ ที่เคยขมุกขมัวก็แจ่มชัดขึ้น

รู้จักตัวตนที่อยู่ในธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง

หลังได้ส่องกระจกมองตัวเองชัดๆ Brand Model ก็ตามมา wear me natural คือแบรนด์เสื้อผ้าธรรมชาติที่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสกับธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่ง 100% natural ทุกกระบวนการตั้งแต่เส้นใย การย้อม ไปจนถึงการตัดเย็บที่เรียบง่าย เพื่อให้ผู้สวมใส่สัมผัสถึงคุณค่าจากธรรมชาติที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น

“หน้าตามันอาจจะเป็นแค่เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติเหมือนแบรนด์ทั่วไป แล้วอะไรล่ะที่มันทำให้ต่าง นั่นคือแนวคิด เราเชื่อในพลังธรรมชาติ ในความเรียบนี้มันมีคุณค่าอยู่ในทุกชิ้น เราบอกได้เลยว่าผ้าสีชมพูย้อมมาจากกาบมะพร้าว สีเทาได้จากมะเกลือ ทุกอย่างมาจากธรรมชาติไม่มีสีเคมี น้ำย้อมผ้าเอาไปรดน้ำในสวนลำไยได้ แม่ๆ ที่ช่วยย้อมผ้าถ้าไม่มีงานย้อมเขาต้องไปรับจ้างตัดหญ้านะ พี่ที่ตัดเย็บเป็นคุณแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวนะ เชื่อในกระบวนการที่ได้ช่วยชุมชนและดีต่อสิ่งแวดล้อม และเราก็เชื่อว่าคนทุกคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง การที่เขาเลือกแบรนด์เรา คือการเลือกคุณค่าที่เขาจะแสดงออกมาด้วยการสวมใส่”

หลังหยิบเส้นผมที่บังภูเขาออกได้ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนและทันทีคือการเลือกรับและเลือกปฏิเสธ จากที่เคยตระเวนออกร้านไปทุกจุดที่ใครว่าดี เธอก็เลือกโฟกัสเฉพาะพื้นที่ที่จะได้พบกับลูกค้าที่เชื่อในธรรมชาติแทนที่จะวัดกันที่ทำเลทองหรือกำลังซื้อ หรือเมื่อโอกาสเข้ามาในเวลาที่รู้ตัวว่ายังไม่พร้อม เธอก็ยินดีที่จะปฏิเสธอย่างไม่เสียดาย แม้ว่าจะเป็นพื้นที่ขายในห้างยักษ์ใหญ่กลางเมืองก็ตาม

เพราะสิ่งที่มากไปกว่ารู้จักตัวเอง คืออีก 2 ห่วงสำคัญอย่าง มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน ที่เธอได้เรียนรู้ผ่าน Business Model Canvas เมื่อภาพชัดเจนว่าเธออยากส่งมอบธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่งเพื่อให้ลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น จากที่เคยมองกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเพียงผู้หญิง เธอก็ได้เห็นลูกค้ากลุ่มใหม่ที่อยากได้รับสัมผัสจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ คนชรา ผู้ป่วย หรือกระทั่งหนุ่มๆ ที่เชื่อในคุณค่านี้ ความคิดที่กว้างขวางขึ้นนี้คือความเป็นเหตุเป็นผลและภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

พอแล้วดี คือแบ่งสิ่งดีๆ ให้สังคม

wear me natural หลังค้นพบตัวเองอาจก้าวถึงคำว่า ‘พอ’ แต่ยังไม่อาจเรียกได้ว่า ‘ดี’ เพราะยังไม่ได้แบ่งปันให้กับสังคม

“พอพี่ๆ เทรนเนอร์ถามว่าที่ส่งมอบคุณค่าจากธรรมชาติให้กับลูกค้า แล้วเราส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับสังคมล่ะ เราก็คิดว่าก็สิ่งแวดล้อมไง แบรนด์เราได้ green product จากกรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเลยนะ แต่พอกลับมาทบทวนก็พบว่า เราไม่เคยคิดในมุมนี้เลย คุณค่าที่เรามีอยู่จะช่วยให้คนอื่นดีขึ้นอย่างไร มันยังมีเงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรมด้วย ก็มานึกถึงคนที่เป็นมะเร็ง ถ้าเราบาลานซ์กำไรที่เราขายได้มาทำอะไรบางอย่างล่ะ ก็เลยไปคุยกับกลุ่มเพื่อนทอฝันที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ว่าจะนำผ้าของเรามาทำหมวกหรือเต้านมเทียมให้คนเป็นมะเร็ง เราอยากให้เขาได้สัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ เพื่อช่วยบำบัดเขา ไม่ใช่สิ่งที่เป็นเคมีหรือโพลีเอสเตอร์ มันเป็นการทำเพื่อคนอื่นที่เราโคตรแฮปปี้” หญิงสาวยิ้มกว้างและบอกเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย เช่นเดียวกับการลองไปทำเวิร์กช็อปสอนย้อมผ้าในน้องๆ ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพฯ ที่แม้น้องจะไม่ได้เห็นผลงานด้วยตา แต่ทุกสัมผัสจากธรรมชาติก็ทำให้น้องๆ ได้ลงมือทำและรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเอง

เมื่อก่อน ยอดขายเยอะแต่กลับรู้สึกว่างเปล่า เราไม่เคยอิ่มใจขนาดนี้ มันเติมเต็มหัวใจเราจริงๆ”

สรุปสุดท้าย หญิงสาวบอกว่า ทั้งหมดนี้คือความยั่งยืนที่เธอได้ค้นพบผ่านคำว่า ‘พอแล้วดี’

“เมื่อเข้าใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ มันทำให้เรารู้จักบริหารจัดการความโลภ รู้ว่าควรจะอยู่ตรงไหนและเวลาไหน รู้ว่าจะต้องสื่อสารออกไปอย่างไร มีหลักที่จะทำหรือไม่ทำอะไรมากขึ้น”