คิด แล้วลงมือทำ
จากการที่รู้จักตัวเองตั้งแต่เรียนมัธยมว่าอยากเป็นศิลปิน เมื่อเข้าศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่องตามสิ่งที่รู้ตัวมาโดยตลอดว่า “ชอบการนำสิ่งที่เหลือใช้ หรือขยะมาสร้างงานศิลปะ” ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้ขยะหายไป และเอ๋จะเป็นคนทำให้หายไป ซึ่งจากการเริ่มงานในยุคแรกๆประมาณ 5 ปีที่แล้วในวัย 21-22 ปี ลักษณะงานขยะสร้างศิลปะจัดวาง (Installation Art) จะมีขนาดเพียง 1 เมตรกว่าๆ ไม่เกิน 2 เมตร แต่ปัจจุบันขนาดของงานใหญ่กว่า 2 เมตร สร้างสรรค์ผลงานให้แบรนด์แฟชั่น และห้างสรรพสินค้าชื่อดังโดยมีเอกลักษณ์เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น

กระบวนการมีส่วนร่วม
แม้ว่าการทำงานดังกล่าวจะอยู่ท่ามกลางเสียงที่บอกว่า เป็นศิลปินจะต้องตกงาน ศิลปินมีอีโก้สูง จึงบอกกับตัวเองว่า เมื่อจบออกมาจะต้องอยู่ให้ได้กับอาชีพนี้ เพราะมองว่าเป็นธุรกิจส่วนตัว ไม่มีอีโก้สูง จะทำอย่างไรไม่ให้ธุรกิจตัวเองเจ๊ง จึงมองโครงการ พอแล้วดี เพราะต้องการเข้ามาเรียนรู้หลักธุรกิจ
“หลังจากที่เรียนจบมาแล้วก็เริ่มรู้จักคำว่า SDGs และได้รู้ว่าสิ่งที่กำลังช่วยสิ่งแวดล้อมในโลกของเราได้ และก็พยายามทำงานให้เข้ากับ SDGs มาโดยตลอด นอกจากนี้เรื่องขยะ เมื่อทำไประยะหนึ่งเอ๋เห็นว่าไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ในการจะเปลี่ยนแปลง เรามีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักคนต่างๆ ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เพื่อการรวมพลังร่วมกัน จึงสมัครเข้าโครงการพอแล้วแล้วดี ”
สิ่งที่ได้จากโครงการ จากเดิมที่รู้เฉพาะตัวตน รู้ว่าอยากทำอะไร แต่ยังมีอีโก้อยู่บ้าง สิ่งที่ได้จากพอแล้วดีเป็น 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ทำให้ตัวตนชัดขึ้นและรู้ว่าศิลปินต้องใช้สมองทั้ง 2 ซีกรวมกันอย่างมีสมดุลย์ และจะต้องมองไปที่ใจของคนอื่นด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะใจของตัวเองเช่น จะต้องทำงานให้เอ๋ให้เสร็จนะ ถ้าไม่เสร็จจะไม่ชอบใจ แต่กระบวนการมีส่วนร่วมจะต้องมองกลับมาด้วยว่า ได้วางแผนงานไว้อย่างไร คนที่ทำงานร่วมด้วยสะดวกทำงานหรือไม่ ถือเป็นการสร้างสมดุลย์ให้กับตัวเอง
ในกระบวนการทำงาน ปัจจุบันได้ชวนกลุ่มพี่ๆ ที่ไม่มีความรู้งานศิลปะมาร่วมงานด้วยกัน และบอกให้รู้ว่าศิลปะคืออะไรเราจะพลิกแพลงขยะเหล่านี้ให้เป็นของสร้างสรรค์อย่างไรได้บ้าง

คิดถึงแบรนด์ Wishulada
ขยะสร้างศิลปะจัดวาง (Installation Art) งานศิลปะ Wishulada เชื่อมโลกใบนี้ ซึ่งโลกใบนี้เสมือน Destination ที่เราอยู่ เราเกิดขึ้นมาที่โลกใบนี้ และเราก็สร้างขยะให้โลกใบนี้ จุดหมายของเอ๋เราต้องลดขยะ เพราะโลกเรามีขยะมาก ต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วนจากคนที่อยู่
“เอ๋ต้องสร้างงานศิลปะทั้งในรูปแบบ Installation Art สื่อวิดีโอต่างๆ ข้อความ เว็ปไซต์ เพื่อสื่อสารให้ทุกคนตระหนักว่า เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว เพื่อลดปัญหาขยะ จริงอยู่งานศิลปะจากขยะสวย แต่จริงๆ ต้องการสื่อสารเพื่อการลดขยะด้วย มิฉะนั้นทุกอย่างจะค่อยๆ พังไปกับตาจากผลกระทบของขยะที่เกิดขึ้นเยอะไปหมด”

คำสอนในหลวง ร.9 ที่พึงระลึกเสมอ
ตั้งแต่ก่อนจะเข้าโครงการพอแล้วดี จนกระทั่งถึงปัจจุบัน เอ๋คิดถึงเรื่องความเพียร เอ๋อ่านพระมหาชนก จะเห็นว่า แม้จะยังไม่เห็นฝั่งเรายังต้องพยายามว่ายอยู่
“ตรงนี้เอ๋จะทำให้ได้ จะพยายามให้ได้ในการช่วยการเปลี่ยนแปลงคนในการลดปัญหาขยะ แม้ว่าประสบการณ์อาจจะไม่มากเท่าพี่ๆ แต่เอ๋ก็จะสู้ แม้ว่าจะมีอุปสรรคอะไรเข้ามา ก็จะพยายามทำให้ได้ เพื่อตอบคำถามส่วนหนึ่งด้วยว่า เป็นศิลปินก็มีความมั่นคงในชีวิต”

ในฐานะพอแล้วดีรุ่น4
ความหวังต่อ The Creator พอแล้วดีรุ่นต่อๆ ไปอยากให้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดได้จริง เพราะเชื่อในศักยภาพ และพรสวรรค์ที่แตกต่างกันของ The Creator และเชื่อว่าเมื่อนำมารวมกันสามารถเปลี่ยนแปลงหลายอย่างได้ เป็นความเพียรเสมอไม่ท้อ
“พอแล้วดี” ในมุมมองของเอ๋คือ ความสมดุลย์ศิลปิน และสังคม คือลดอัตตา แต่ไม่ได้ละทิ้งตัวตน แล้วเปิดหัวใจรับฟังเสียงของผู้อื่น มีสมดุลย์สมองซีกซ้าย และซีกขวา เมื่อเราได้ สังคมต้องได้ ต้องเป็นผลบวกทั้งคู่